เชียงใหม่-ป.ป.ท.ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ หลังหัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ที่ 2 เปิดโปงขบวนการทุจริตภายในอุทยานฯ พบว่าอดีตหัวหน้าอุทยาน มีพฤติกรรมลักลอบตัดไม้มีค่า และยักยอกเงิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 10 มกราคม 2566 นายสุภาพ ศิริ ผู้อำนวยการกองอำนวยการต่อต้านการทุจริต ป.ป.ท. พร้อมทีมงานลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อตรวจสอบข้อมูลการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ หลัง นายสมบูรณ์ สมรักษ์ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ที่ 2 (ปางแฟน) ออกมาเปิดเผยข้อมูลก่อนหน้านี้ว่า ตั้งแต่ปี 2558 อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ภายในอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ ฉีดยาฆ่าหญ้ากับต้นไม้ในเขตอุทยานฯ เพื่อให้ต้นไม้ยืนต้นตาย ก่อนจะล้มไม้นำมาแปรรูปในพื้นที่หน่วยพิทักษ์อุทยานในสังกัด โดยอ้างว่าไม้ยืนต้นตายในป่าจึงต้องโค่นทิ้ง

โดยกระบวนการทั้งหมดใช้เจ้าหน้าที่อุทยานเป็นคนทำทั้งหมด เพื่อนำไม้แปรรูปไปขาย หรือส่งให้กับผู้ใหญ่ในกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ส่วนเงินที่ได้จากการขายไม้แปรรูป ไม่ทราบว่าจะไปอยู่กับใคร ซึ่งการแปรรูปใช้อุปกรณ์ เจ้าหน้าที่ และ รถของอุทยานฯ ในการขนส่ง ทำให้ตนเองต้องออกมาร้องเรียนถึงพฤติกรรมที่เกิดขึ้น ทั้ง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่หลังจากร้องเรียนไปเมื่อปี 2563 เรื่องก็ยังเงียบ มีเพียงคำสั่งย้ายอดีตหัวหน้าอุทยานฯ ไปรับราชการในพื้นที่อื่น ขณะเดียวกันหลังร้องเรียน ตนเองโดนกลั่นแกล้งอย่างต่อเนื่อง ทั้งไม่มีการขึ้นเงินเดือน และถูกโยกย้ายไม่เป็นธรรม

นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลว่า อดีตหัวหน้าอุทยานคนนี้ยังได้ทำการเข้าข่ายทุจริตด้วยการตั้งเบิกเงินเบี้ยเลี้ยงล่วงเวลาในส่วนโครงการ smart patrol หรือ การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ทั้งที่ไม่มีการเดินลาดตะเวนล่วงเวลาจริง หรือมีการลาดตระเวนจริงแต่เดินไม่ครบชุด ซึ่งชุดลาดตระเวน 1 ชุด จะมี 5 คน และจะมีการจ่ายเงินค่าตอบแทนประมาณคนละ 2,500 บาทต่อเดือน แต่ไปเดินจริงแค่ 2 คน และมีการเบิกเงินทั้งหมด 5 คน และยังมีชื่อบุคคล 2 คน ที่มีรายชื่อเบิกเงิน แต่ไม่เคยมาทำงาน

ผู้ร้องเรียนยังให้ข้อมูลด้วยว่า อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ ได้ว่าจ้างพนักงานตำแหน่งแม่บ้านประจำอุทยานฯ ทำงานทั่วไป โดยได้รับเงินเดือน เดือนละ 6,000 บาท เป็นการจ้างแบบ T.O.R แต่มีเงินเข้าบัญชี เดือนละ 32,000 ทุกเดือน โดยการจ่ายเงินเดือน อดีตหัวหน้าอุทยานจะให้ แม่บ้านไปกดเงินจากเอทีเอ็ม มาจำนวน 32,000 บาท แล้วให้หักเก็บไว้ 6,000 บาท เป็นเงินเดือน ส่วนอีก 26,000 บาท นำมามอบให้หัวหน้าเป็นเวลากว่า 80 เดือน จากการตรวจสอบพบว่าชื่อของแม่บ้านมีตำแหน่งทำงานเป็นถึงระดับนักวิชาการ ทั้งที่จบแค่ ป.6

นายสุภาพ ศิริ ผู้อำนวยการกองอำนวยการต่อต้านการทุจริต ป.ป.ท. เปิดเผยว่า เบื้องต้นจากการให้ข้อมูลของผู้เสียหาย มีมูลความผิดระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องรวบรวมข้อมูลและหลักฐานอย่างละเอียด หลังจากสอบผู้เสียหายแล้วจะต้องสอบปากคำผู้เกี่ยวข้อง ต้องมีการตรวจสอบข้อมูลจากต้นทาง โดยเฉพาะสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ หน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรงและต้องสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหา ก่อนจะนำหลักฐานทุกอย่าง ทั้งเรื่องของการตัดไม้ในเขตอุทยาน และการยักยอกเงินส่งให้ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยรัฐออนไลน์