ภาวะโลกร้อน ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ทำให้อากาศร้อนจัดและหนาวจัด หรือเกิดภูมิอากาศแบบสุดโต่ง และก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติมากมาย เป็นผลทางตรงและทางอ้อมจากการทำกิจกรรมของมนุษย์ นอกเหนือจากความผันแปรตามธรรมชาติ
เห็นได้ชัดเจนในช่วงที่ผ่านมาจากสภาพอากาศหนาวยาวนานในประเทศไทย และหนาวเย็นกว่าเมื่อปลายปี 2564 และต้นปี 2565 จากมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาเร็วและแรง ทำให้อุณหภูมิลดลงเป็นอย่างมาก จนบางพื้นที่ใน กทม.และปริมณฑล อุณหภูมิลดลงเฉลี่ย 17-18 องศาฯ หรือบางวันลดลงเหลือ 15 องศาฯ
ความหนาวเย็นยาวนานที่เกิดขึ้นทำให้ฤดูร้อนของประเทศไทยช้ากว่าปกติประมาณ 1-2 สัปดาห์ และจะเริ่มในช่วงปลายเดือน ก.พ.นี้ ไปจนถึงกลางเดือน พ.ค. ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวและร้อนจัด โดยเฉพาะช่วงกลางเดือน มี.ค. ถึงปลายเดือน เม.ย. อุณหภูมิจะสูงสุดเฉลี่ยในพื้นที่ประเทศไทยตอนบนประมาณ 35.5 องศาฯ หรือบางพื้นที่ 40-43 องศาฯ สูงกว่าช่วงฤดูร้อนปี 2565 ซึ่งมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 34 องศาเซลเซียส จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา
แต่อย่าไว้ใจสภาพอากาศจากภาวะโลกร้อน เพราะได้เกิดหลายๆปรากฏการณ์ให้เห็นบนโลกใบนี้ โดยเฉพาะเมืองโม่เหอ มณฑลเฮย์หลงเจียง ทางตอนเหนือสุดของประเทศจีน อุณหภูมิต่ำสุดติดลบ 53 องศาฯ เป็นประวัติการณ์ในรอบ 54 ปี เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา จากสถิติเดิมเคยติดลบ 52.3 องศาฯ ได้ส่งผลทางอ้อมต่อประเทศไทย ทำให้อุณหภูมิลดลง จากการระบุของ “ดร.สุทัศน์ วีสกุล” ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) และหากประเทศเกาหลีและจีนมีอุณหภูมิอุ่นขึ้น ก็จะส่งผลต่อประเทศไทยเช่นกัน
“ขณะนี้ความกดอากาศในไทยเริ่มถอยตัวไป จนเริ่มอุ่นขึ้น คาดการณ์ในระยะสั้นประมาณ 3 วัน 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ. ไปจนถึง 8 ก.พ. อุณหภูมิจะอุ่นขึ้น และลมหนาวจะอ่อนลงด้วย แต่มีลมแรงปานกลาง ทำให้ภาคใต้มีฝน และตกหนักเป็นหย่อมๆ ในบางพื้นที่ ส่วนภาคอื่นอุณหภูมิจะอุ่นขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปลายเดือน ก.พ. และภายในเดือน มี.ค.อากาศจะร้อนสลับฝนตก ทำให้คลายร้อนได้พอสมควร”
ส่วนสิ่งที่แตกต่างจากปีที่แล้วและต้องเตือนให้รับมือ เพราะช่วงเดือน มี.ค.จะเกิดพายุฤดูร้อนฝนฟ้าคะนอง ลูกเห็บตกบางพื้นที่ในภาคเหนือและอีสาน ซึ่งมาเร็วกว่าทุกปี จากสภาพอากาศแปรเปลี่ยน และต้องระวังลมแรงในช่วงนั้น มีความเสี่ยงจะเกิดวาตภัย โดยเฉพาะเกษตรกรต้องเตรียมพร้อมรับมือความเสียหายจากต้นไม้โค่นล้ม และเป็นช่วงที่ทุเรียนกำลังจะอ่อน ต้องดูแลให้ดี
จากนั้นกลางเดือน พ.ค.จะเริ่มฤดูฝน ให้เตรียมในเรื่องชลประทานต่างๆ ใช้โอกาสช่วงเกิดพายุฤดูร้อน รีบเก็บน้ำให้เร็วขึ้น แม้ปริมาณน้ำในเขื่อนทั่วประเทศจะมีจำนวนมากจากปี 2565 ประมาณ 77% แต่ต้องบริหารจัดการให้ชัดเจน เพราะปีนี้มีแนวโน้มจะเกิดฝนทิ้งช่วง 2 ครั้งในเดือน ก.ค. และ ก.ย. ซึ่งฝนปีนี้ค่อนข้างแกว่งคล้ายกับปี 2564 มีการแปรเปลี่ยนมากกว่าค่าปกติเล็กน้อย หรือใกล้ค่าเฉลี่ย 3%
การประเมินปริมาณฝนปีนี้ในเบื้องต้นพบว่าตกน้อยกว่าค่าปกติในบางเดือน แต่อาจไม่แน่นอน ต้องประเมินอีกครั้งจากอุณหภูมิในมหาสมุทร เพราะฝนปีที่แล้วมีมากกว่าค่าปกติ หรือค่าเฉลี่ยมากถึง 23% โดยสภาพอากาศที่แปรเปลี่ยนเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน ทำให้ปีนี้พายุฤดูร้อนมาเร็ว ส่วนอุณหภูมิสูงสุดจะสูงกว่าปีที่แล้ว แต่อาจเปลี่ยนแปลงไม่มาก
“สิ่งสำคัญที่สุดขอให้เกษตรกรเตรียมตัวรับมือผลกระทบจากลมแรง ใช้น้ำอย่างระมัดระวัง ด้วยการขุดลอกคลองเก็บน้ำไว้ใช้ เพราะปีนี้ฝนน่าจะน้อยกว่าปี 2565 ทำให้ความเสี่ยงน้ำท่วมในหลายพื้นที่น้อยลง”.
ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยรัฐออนไลน์