กรมอุทยานแห่งชาติเฉลยแล้ว ภาพสัตว์ป่าคล้าย “ไดโนเสาร์” ที่แก่งกรุง คือ “อีเห็นลายพาด” เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลายเป็นประเด็นที่โลกโซเชียลต่างให้ความสนใจ เมื่อ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้โพสต์ข้อความให้ความรู้ เรื่องระบบงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ที่เกี่ยวข้องกับงานอนุรักษ์ พร้อมทั้งยังเผยภาพสัตว์ป่าในพื้นที่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง
ทำให้หลายคนเข้าไปแสดงความคิดเห็น ชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งชมสัตว์ป่าและความงามของธรรมชาติ แต่ที่ทำให้ส่วนใหญ่สะดุดตา คือ รูปสัตว์ชนิดหนึ่งที่ปรากฏในโพสต์ ที่ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยเห็นมาก่อน บ้างก็เอ่ยว่ามีลักษณะคล้ายไดโนเสาร์ จนกลายเป็นที่ฮือฮาอย่างมาก
ต่อมาทางประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็ได้โพสต์ภาพและข้อความอธิบายเพิ่มเติมระบุว่า หลังภาพนี้เผยแพร่ออกไป มีหลายคนสงสัยว่าน้องคือตัวอะไร บางคนสงสัยว่าน้องคือ “ไดโนเสาร์” แล้วจะใช่หรือไม่ เรามีคำตอบมาให้ ว่าแท้จริงแล้วน้องคือตัวอะไร
สัตว์ที่ปรากฏในภาพนี้ก็คือ “อีเห็นลายพาด” ซึ่งเป็นชะมดขนาดเล็กที่มีลำตัวเพรียวยาว หน้าค่อนข้างยาว มีหูใหญ่ และตาโต ขนลำตัวเป็นสีน้ำตาล โดยมีขนสีดำรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน พาดขวางกลางหลัง โดยมุมยอดของรูปเหลี่ยม จะอยู่บริเวณท้อง บริเวณหน้ามีแถบขนสีดำ พาดจากกึ่งกลางหน้าผากลงมายังจมูก และมีแถบขนสีดำอีกคู่ที่พาดจากหัวผ่านตา มายังปลายจมูกและปาก ขนที่ท้องและขามีสีอ่อนกว่าหลัง หางยาวมากและมีสีดำ ที่โคนหางเป็นสีน้ำตาล มีลายเป็นปล้องสีดำ 2-3 ปล้อง อีเห็นลายพาดมีนิ้ว 5 นิ้ว มีเล็บโค้งแข็งแรง ซึ่งสามารถหดเก็บได้เหมือนพวกแมว
“อีเห็นลายพาด” อาศัยอยู่ตามป่าไม้ใหญ่ ส่วนใหญ่อาศัยหากินบนต้นไม้ และบนพื้นดิน เนื่องจากเคยดักจับได้บนพื้นดิน เมื่อถูกดักจับได้ อีเห็นลายพาดแสดงนิสัยค่อนข้างดุ และทำเสียงขู่คล้ายแมว แต่ไม่มีกลิ่นเหมือนชะมดอื่นๆ (U Tun yin, 1969)
มีรายงานว่า อีเห็นลายพาดเป็นสัตว์ที่หากินในเวลากลางคืน โดยส่วนใหญ่หากินตามพื้นดินและหลบนอนตามโพรงบนต้นไม้ หรือตามพื้นดิน อาหารของอีเห็นลายพาดจะเป็น ไส้เดือน แมลง และสัตว์ขนาดเล็ก (Payne et al, 1985 ) และพบว่าตัวเมียท้องจะมีลูกอ่อน เพียง 1 ตัว (Medway, 1969)
การแพร่กระจาย : ประเทศไทย มาเลเซีย สุมาตรา และบอร์เนียว ในประเทศไทยพบทางภาคใต้คอคอดกระลงมา
“อีเห็นลายพาด” มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
ข้อมูล : (คลิกที่นี่ เพื่ออ่านเพิ่มเติม)
ภาพ : อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง – Kaeng Krung National Park
ขอบคุณข้อมูลจาก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยรัฐออนไลน์