ผอ.อนามัยโลกเตือนทั่วโลกจับตาไวรัสไข้หวัดนก สามารถติดต่อมาสู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้แล้ว ถือเป็นการยกระดับอีกขั้นที่จะติดต่อถึงคนได้ แม้ตอนนี้ยังเป็นเรื่องยากอยู่ก็ตาม
เมื่อ 8 ก.พ. 66 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายเทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกคำเตือนให้ทั่วโลกเตรียมความพร้อมรับมือโรคไข้หวัดนก (Bird Flu) ขณะที่พบว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดนก สายพันธุ์ H5N1 ได้เกิดการกลายพันธุ์จนสามารถ ‘กระโดดข้าม’ มาติดต่อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้แล้ว
ขณะนี้มีรายงานพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทั้งตัวนาก มิงค์ และสุนัขจิ้งจอก ติดเชื้อไข้หวัดนก จนทำให้เกิดความหวั่นวิตกว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดนก สายพันธุ์ H5N1 ได้เกิดการกลายพันธุ์จนยกระดับขึ้นมาอีกขั้นที่จะสามารถติดต่อสู่คนได้
ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ซึ่งกล่าวเตือนในเรื่องนี้ระหว่างแถลงข่าวเมื่อ 8 ก.พ. 2566 ได้เรียกร้องให้ชาติต่างๆ ทั่วโลกเฝ้าติดตามการติดเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม นายเกเบรเยซุส กล่าวว่า ความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสไข้หวัดนกจะกระโดดมาติดต่อสู่คนในขณะนี้ยังถือว่าต่ำ แต่เราก็ไม่ควรสรุปว่ายังเป็นไปไม่ได้ และควรต้องเตรียมพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นทุกอย่างของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก
คำเตือนของผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกในเรื่องนี้มีขึ้นหลังจากสหราชอาณาจักร (UK) รายงานเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนกครั้งใหญ่ที่สุดที่ติดต่อมาสู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อีกทั้งยังพบการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกในมิงค์ที่สเปนเมื่อเดือนที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้เคยพบคนติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 มาแล้วประปราย แต่เนื่องจากเป็นการสัมผัสใกล้ชิดกับนกที่ตาย หรือนกติดเชื้อ เพราะเชื้อไวรัสไข้หวัดนกยังไม่สามารถติดต่อสู่คน หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้ง่ายๆ
ทว่ารายงานที่พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมติดเชื้อไข้หวัดนกได้ทำให้เกิดความกังวลมากขึ้นว่าเชื้อไวรัสนี้จะแพร่ติดต่อมาสู่คนได้ง่ายมากขึ้น และก่อนหน้านี้ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำได้เตือนว่าการระบาดของไข้หวัดนกมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การระบาดทั่วโลกจนกว่าจะสามารถควบคุมการระบาดได้
ที่สหรัฐอเมริกาได้เผชิญกับการระบาดของโรคไข้หวัดนกครั้งใหญ่ในปีนี้ มีสัตว์ปีกกว่า 58 ล้านตัวในเกือบทุกรัฐติดเชื้อไข้หวัดนก และมีนกป่าถึง 6,100 ตัว ตายเพราะติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกจนทำลายสถิติของประเทศ
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกในมิงค์อาจนำไปสู่การเกิดไวรัสไข้หวัดนกลูกผสมที่มีการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมไปเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดนกลูกผสมข้ามสายพันธุ์ได้ ซึ่งเหมือนกับการเกิดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาครอน ที่เป็นลูกผสมระหว่างเดลตากับโอมิครอน และพบครั้งแรกในฝรั่งเศส เมื่อเดือน ก.พ. 2565.
ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยรัฐออนไลน์