DecryptThaiFarmerDebt

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้าง และปัญหาของภาคเกษตรกรรมที่สะสมอยู่มากมาย ทั้งเกษตรกรที่อายุมากและมีโรคภัยไข้เจ็บเพิ่มขึ้น ขาดปัจจัยการผลิตที่สำคัญและขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงในขณะที่ราคาผลผลิตตกต่ำลงเรื่อย ๆ รวมถึงปัญหาหนี้สินเรื้อรังที่เกษตรกรส่วนใหญ่มีหนี้เป็นหลักแสนถึงหลักล้านบาทแม้จะสูงวัยแล้วก็ตาม หนำซ้ำยังขายผลผลิตได้ยากขึ้นเพราะการปิดตลาดและระบบขนส่งที่หยุดชะงักจากการประกาศภาวะฉุกเฉิน ซึ่งแม้ว่าภาครัฐจะออกมาตรการเยียวยาหรือให้กู้ยืมเงินระยะสั้น แต่ก็เป็นเพียงการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ที่เหมือนการ “สร้างหนี้เพิ่มมากกว่าช่วยแก้หนี้” แล้วสุดท้ายเกษตรกรก็ต้องกลับมาติดกับดักของวงจรหนี้สินเหมือนเดิมหรือหนักหนากว่าเดิม

จากการทำงานเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของชาวนาในภาคกลางที่มีปัญหาหนี้สิน สู่การเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อวิถีสุขภาวะ โดยมูลนิธิชีวิตไท (Local Act) พบว่า เมื่อชาวนาเริ่มมีหนี้สินและไม่สามารถบริหารจัดการได้ ผลที่ตามมาคือ พฤติกรรมการใช้เงินอย่างไร้เป้าหมาย บางรายมียอดหนี้กว่า 45 % ของรายได้ ไม่มีเงินสำรองฉุกเฉิน จำไม่ได้ว่ามีหนี้เท่าไร หรือกลัวคนอื่นรู้ว่ามีหนี้ ต้องพยายามกู้หนี้ใหม่มาผ่อนหนี้เก่า รวมถึงมีหนี้เยอะจนเครียดและส่งผลต่อการใช้ชีวิต

อย่างไรก็ตามการระบาดโควิด-19 ซึ่งเป็นลักษณะวิกฤตซ้อนวิกฤตต่อปัญหาหนี้สินของชาวนา แต่ก็ยังแฝงด้วย “โอกาสที่มาจากภาวะวิกฤต” ซึ่งบีบบังคับให้ชาวนาได้เรียนรู้การปรับตัว ปรับแนวคิด และสร้างภูมิต้านทานเพื่อบริหารจัดการชีวิตหลายด้านให้อยู่รอดได้ในยามวิกฤต

เริ่มจากตัวชาวนาเองต้องไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตา พร้อมที่จะเปิดใจและปรับตัวเพื่อยกระดับจากชาวนาวิถีดั้งเดิมผู้เป็นแรงงานในไร่นาที่มีรายได้ต่ำและหนี้สินสูง สู่การเป็น “ชาวนาผู้ประกอบการ” ที่กล้าลุกขึ้นมาคิดใหม่ ทำใหม่ ใช้หนึ่งสมองสองมือสร้างโอกาสพัฒนาอาชีพใหม่ ๆ บนฐานของความเป็นเกษตรกร ที่มีเป้าหมายการผลิตและพัฒนาช่องทางการตลาดได้เอง มีแผนธุรกิจแก้หนี้และพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยกระบวนการทบทวนชีวิตแต่ละด้านเพื่อเรียนรู้จุดเด่น-จุดด้อยของตนเอง รู้จักการคำนวณต้นทุน บันทึกค่าใช้จ่ายอย่างมีวินัยเพื่อกำหนดราคาขายและหาแนวทางการลดต้นทุน เพิ่มช่องทางสร้างรายได้ รวมถึงพัฒนารูปแบบการผลิตและการตลาดที่สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าที่แท้จริง

เมื่อปัญหาหนี้สินชาวนาถูกซ้ำเติมด้วยโควิด-19 ผลที่ตามมาคือความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดินทำกิน ซึ่งพบว่าชาวนาและเกษตรกรจำนวนหนึ่งได้สร้างปัจจัยการบริหารจัดการชีวิตหนี้ที่น่าสนใจ สามารถช่วยบรรเทาหนี้ หรือปลดหนี้ และไถ่ถอนที่ดินคืนมา ได้แก่

          – ตัวตนของเกษตรกร ต้องไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา เป็นนักสู้ มีความซื่อสัตย์ จริงใจ มีเจตนารมณ์แน่วแน่เพื่อรักษาที่ดินไว้ให้ลูกหลาน โดยคนในครอบครัวพร้อมสนับสนุน ให้กำลังใจและแก้ไขปัญหาร่วมกัน เผื่อแผ่ไปถึงเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน ที่พร้อมช่วยเหลือเยียวยา และดูแลซึ่งกันและกัน

          – ต้องพัฒนาศักยภาพการเพิ่มรายได้ด้วยการวางแผนการผลิตอย่างเหมาะสม ลดต้นทุน ปรับเปลี่ยนการผลิตให้ปลูกพืชที่หลากหลายชนิด หาอาชีพเสริมสร้างรายได้ที่อยู่บนพื้นฐานอาชีพและทักษะที่เชี่ยวชาญ ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองและภูมิใจในอาชีพเกษตรกร

          – ต้องบริหารจัดการทุนตั้งต้น ที่ไม่ใช่เงินจากการกู้ยืม เงินสนับสนุนหรือเงินเยียวยาจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงทุนที่มาจากการจัดการระบบการเงินที่ดี การเก็บออมเพื่อสร้างอาชีพ ผนวกกับความรู้ ความสามารถ ทักษะ และความเชี่ยวชาญที่มี ผสมผสานการแสวงหาความรู้และนวัตกรรมใหม่

          – ต้องบริหารจัดการที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม อาทิ ปลูกพืชผลที่หลากหลายชนิด ทำเกษตรปราณีต ปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อสร้างรายได้ตลอดทั้งปี และวางแผนการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์เต็มที่เพื่อเป็นหลักประกันรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

          – ต้องรู้เท่าทันหนี้ เข้าใจเงื่อนไขของเจ้าหนี้ แหล่งเงินกู้ และเอกสารสัญญาต่าง ๆ เพื่อการบริหารระบบการเงินและกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ที่เหมาะสม ให้สอดคล้องกับรายรับตามช่วงฤดูกาลการผลิต วางแผนสำรองในกรณีฉุกเฉิน รวมถึงมีแผนอุดช่องโหว่ต่อสาเหตุการผิดนัดชำระหนี้

          อีกไม่นานประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และดูเหมือนว่าอาชีพเกษตรกรจะกลายเป็นอาชีพของผู้สูงวัยไปโดยปริยาย ลูกหลานเกษตรกรจำนวนมากต้องเดินทางเข้ามาทำงานในเมือง การขาดแรงงานรุ่นใหม่ทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตลดลง ไม่สามารถนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ และส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงไปด้วย ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ลูกหลานเกษตรกรเสี่ยงต่อการถูกลดเงินเดือนหรือถูกเลิกจ้างงาน จนไม่สามารถส่งเงินกลับมาช่วยจุนเจือครอบครัวได้ และการจะกลับคืนสู่ภูมิลำเนาเดิมเพื่อมาเป็นเกษตรกรก็คงทำได้ไม่ง่ายนัก

แต่ก็เป็นโอกาสดีเพราะพบว่ามีแรงงานคุณภาพที่มีแนวคิดใหม่ ๆ พร้อมทำงานและเป็นกำลังสำคัญในการเข้ามาพัฒนาภาคเกษตรและเศรษฐกิจในท้องถิ่น เป็นโจทย์ที่ท้าทายคนรุ่นใหม่ที่กลับมาสู่ภาคเกษตรกรรม ได้นำประสบการณ์ ความรู้ และสินทรัพย์ของชาวนารุ่นเก่า มาผสมผสานกับแนวคิดใหม่ ๆ สร้างแรงจูงใจให้ชาวนารุ่นเก่าได้กล้าปรับเปลี่ยนมาเป็นผู้ประกอบการเกษตร ยอมรับและทำงานร่วมกันเพื่อออกแบบกลไกการยกระดับการผลิต นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรมาใช้อย่างเหมาะสม สร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ช่องทางการตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

หลายครั้งในประวัติศาสตร์ที่มนุษยชาติผ่านวิกฤตร่วมกันมา ทั้งสงคราม การก่อการร้าย หรือภัยธรรมชาติ การระบาดของไวรัสโควิด-19 นับเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยประสบมา หากแต่เราจะเติบโตและก้าวไปสู่การใช้ชีวิตต่อไปแบบวิถีปกติใหม่ (new normal) ด้วยความเข้าใจและมั่นคง ซึ่งไม่ว่าวิถีนั้นจะนำความเปลี่ยนแปลงอะไรมาบ้าง การเปิดรับความเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอย่างต่อเนื่องเท่านั้น ที่จะเป็นหลักประกันความอยู่รอดและความอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนของชาวนาและภาคเกษตรกรไทยได้    

ที่มา : landactionthai