วันที่ 2 มี.ค.2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กถึงปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก Pm 2.5 ความว่า ตลอดสัปดาห์นี้ ค่าฝุ่นในหลายพื้นที่น่าเป็นห่วงมาก การอดทนรอให้ฤดูหนาวผ่านพ้น หรือ การใช้มาตรการระยะสั้นเพื่อลดความรุนแรง แม้จำเป็นต้องทำ แต่เป็นวิธีที่ไม่เพียงพอและไม่ยั่งยืน

ผมย้ำอีกครั้งว่าในระยะยาว วิธีแก้ปัญหา PM2.5 ไม่มีวิธีอื่น นอกจากกำจัดแหล่งที่เกิดมลพิษให้มากที่สุด

ปัญหา PM2.5 เราทำให้ดีกว่านี้ได้

ในประเทศที่มีปัญหา PM2.5 คุณอาจตรวจพบมะเร็งปอดระยะสุดท้ายทั้งๆ ที่ใช้ชีวิตทั้งชีวิตอยู่บนความไม่ประมาท ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารดี ไม่สูบบุหรี่หรือกินเหล้า ปัญหานี้กระทบกับทุกคนไม่ว่ารวยหรือจน แต่กลุ่มคนเปราะบางจะได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ

ผู้มีอำนาจของรัฐบาลปัจจุบันอาจมองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหา คุณภาพอากาศของประเทศไทย เพื่อตัวเราเอง เพื่อคนที่เรารัก และเพื่อทุกคนในสังคม

ปกติในช่วงฤดูหนาว จะเป็นช่วงที่ภาวะอากาศปิดที่อากาศถ่ายเทน้อย ประกอบกับทิศทางของกระแสลมทำให้อากาศไม่ไหลเวียนตามปกติ ลมและการถ่ายเทอากาศในเขตเมืองน้อยกว่าปกติ มลพิษที่เกิดขึ้นทั้งภายในเมืองและนอกเมือง จึงมีการฟุ้งกระจายออกไปน้อยกว่าช่วงเวลาอื่นของปี ทำให้เกิดมลพิษสะสม สิ่งนี้เรียกว่า “เกาะมลพิษในเขตเมือง” หรือ urban pollution island

แหล่งที่มาของ PM2.5 ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้หรือการสันดาปไม่สมบูรณ์ โดยปัญหาของในกรุงเทพฯ และภาคเหนือมีลักษณะที่แตกต่างกัน ในกรุงเทพฯแหล่ง PM2.5 หลักๆ จะมาจากการก่อมลพิษภายในเมือง ไม่ว่าจะเป็นจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ยานพาหนะ และการเผาไหม้จากโรงงานอุตสาหกรรม ผนวกกับการเผาตอซังข้าวของเกษตรกรในภาคกลาง

ส่วนภาคเหนือแหล่ง PM2.5 มาจากการเผาพืชไร่ เช่น ข้าวโพด เป็นหลักทั้งจากในประเทศและนอกประเทศ ผนวกกับปัญหาไฟป่าที่มีความรุนแรงขึ้นในช่วงปลายฤดูหนาวที่อากาศแห้ง ทำให้เมืองต่างๆในภาคเหนือซึ่งอยู่ตามช่องเขา เกิดเกาะมลพิษที่รุนแรงมากกว่าปกติ

ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหา PM2.5 ไม่มีวิธีอื่น นอกจากกำจัดแหล่งที่เกิดมลพิษให้มากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงปลายฤดูหนาวของทุกปี ถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล สิ่งที่เราจะทำคือ

เสนอ 8 วิธีแก้ปัญหา

1.- ลด PM2.5 ที่มาจากยานพาหนะให้มากที่สุด งานวิจัยหลายชิ้นค่อนข้างบอกตรงกันว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ PM2.5 ส่วนใหญ่มาจากยานพาหนะ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล สิ่งที่พรรคก้าวไกลคิดว่าทำได้ทันทีคือ

– ตั้งเป้าเปลี่ยนรถเมล์ทั้งหมดในกรุงเทพฯ จากรถเมล์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล มาเป็นรถเมล์ไฟฟ้า (EV Bus) ทั้งหมดภายใน 7 ปี และรถเมล์ทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยหลังจากนี้ ต้องเป็นรถเมล์ไฟฟ้าทั้งหมดทุกจังหวัด

– ทุก 3 เดือน สุดท้ายของปี (ตุลาคม-ธันวาคม) จะต้องมีการเปิดให้ประชาชนนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาตรวจเช็กสภาพรถฟรี เพื่อให้ประชาชนได้ตรวจเช็คว่ารถของตนเองมีการเผาไหม้สมบูรณ์หรือไม่ สำหรับรถที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์หรือลดควันดำจะได้มีการแก้ไขก่อน และถ้ารถคันใดผ่านมาตรฐาน จะได้รับสติ๊กเกอร์เพื่อติดรับรอง

– ในช่วงที่มี PM2.5 อยู่ในระดับวิกฤต ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยมีการตั้งด่านตรวจฝุ่น ปัจจุบันการบังคับใช้กฎหมายมีความไม่ชัดเจน ระหว่าง 3 หน่วยงาน คือตำรวจจราจร กรมการขนส่ง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เช่น กทม.) ผมเชื่อว่าท่านนโยบายรัฐบาลมีความเอาจริงเอาจัง ปัญหาความไม่ชัดเจนในอำนาจหน้าที่ตรงส่วนนี้จะถูกแก้ไขได้

– นอกจากนี้ในช่วงที่ PM 2.5 อยู่ในระดับวิกฤต ต้องมีการควบคุมปริมาณรถบรรทุกและรถบัสที่จะเข้ามาในเขตเมืองให้เข้มข้นขึ้น เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมปัญหามลพิษในเขตเมือง

– ในระยะยาว ต้องมีการรณรงค์ให้ประชาชนใช้รถสาธารณะมากขึ้น โดยทดลองผ่านการทำ “วันรณรงค์ลดการใช้รถส่วนบุคคล” (Car Free Day) หรือ 1 วันที่รัฐบาลจะรณรงค์ให้คนในเมืองใช้ขนส่งสาธารณะให้มากที่สุดและลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว โดยในวันนั้นจะต้องฟรีค่าเดินทางขนส่งสาธารณะทั้ง รถเมล์ รถไฟฟ้า เรือ รวมถึงค่าที่จอดรถบริเวณจุดเชื่อมต่อเพื่อให้ประชาชนได้ทดลองเดินทางแบบไม่ใช้รถส่วนตัว

2- บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อย ผ่านการร่วมมือกับประชาชนและท้องถิ่น เพราะจำนวนเจ้าหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษมีไม่เพียงพอในการตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด รัฐบาลต้องช่วยสนับสนุนการทำงานของภาคประชาสังคมและท้องถิ่น อย่างเช่นนโยบาย “นักสืบฝุ่น” ของคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม. ให้ทำงานในการหาต้นตอของโรงงานที่ปล่อยมลพิษให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3.- ปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยไม่ให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่และพยายามลงทุนพลังงานสะอาดเพื่อมาแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินเดิม เราตั้งเป้าว่าถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล ต้องเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน

4- ลดการเผาในภาคเกษตรให้ได้ ซึ่งสำหรับอ้อยได้รถการเผาลงไปมากแล้วผ่านการมีค่าปรับในการรับซื้ออ้อยที่เก็บเกี่ยวจากการเผา แต่สำหรับข้าวและข้าวโพดรัฐบาลยังต้องทำงานเพิ่มเติม

– สำหรับข้าว เราต้องทำให้เงินอุดหนุนสินค้าเกษตรไม่ใช่เพียงแค่ให้ตรงไปที่เกษตรกร แต่ต้องส่งเสริมให้มีการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ดีขึ้น เช่น ใช้เครื่องจักรหรือรถไถสำหรับไถกลบตอซังข้าวแทนการเผา ในช่วงเดือนตุลาคม-กุมพาพันธ์ ของทุกปี

– สำหรับข้าวโพด รัฐบาลต้องทำให้เกิดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในการนำซังข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยวไปแปรรูป เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรเก็บผลพลอยได้เหล่านี้ไปขายแทนการเผา เช่น ใช้สำหรับทำอาหารสัตว์ หรือสำหรับเป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าชีวมวล

5.- แก้ปัญหาไฟป่า ด้วยการเปลี่ยนงบประมาณด้านไฟป่าที่กระจายอยู่ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ไม่โปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วม และเป็นแหล่งที่ทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่น เปลี่ยนเป็นเงินสนับสนุนให้ท้องถิ่นต่างๆ ในพื้นที่เสี่ยง ส่งตรงถึงประชาชนเพื่อสร้างแนวกันไฟ ที่นอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาไฟป่าแล้ว ยังทำให้เกิดงานเกิดรายได้ในพื้นที่สำหรับประชาชนนอกฤดูเก็บเกี่ยว

6.- เพิ่มมาตรฐานบรรษัทภิบาลของกลุ่มทุนในประเทศให้มีเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือ แหล่งเกิดมลพิษส่วนใหญ่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านที่ทำการเผาไร่ข้าวโพด ไร่อ้อย เพื่อส่งสินค้าเกษตรเหล่านี้กลับมาให้ขายในประเทศไทย วิธีการแก้ปัญหาการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นการออกกฎหมาย/กฎกระทรวง ในการควบคุมการรับซื้อสินค้าเกษตรของกลุ่มทุนในประเทศเราเองไม่ให้กลุ่มทุนมักง่ายรับซื้อสินค้าเกษตรที่มีที่มาจากการเผาเหล่านี้

ควบคู่กัน เราต้องทำการเจรจาและสร้างความร่วมมือทางการค้า การลงทุน และให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับต่างประเทศเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนวิถีการผลิต เช่น สนับสนุนการตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลเพื่อให้เกิดการแปรรูปซังข้าวโพดแทนการเผา เพื่อให้มีบรรทัดฐานระหว่างประเทศมากำกับ

7.- กำหนดค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทยที่ทะเยอทะยานมากขึ้นตามที่ WHO แนะนำ ถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลเราจะกำหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 ให้มีมาตรฐานสากลขึ้น ตามข้อเสนอของกรีนพีซประเทศไทย สำหรับค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เราจะกำหนดจาก 37.5 เป็น 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และสำหรับค่าเฉลี่ย 1 ปี เราจะกำหนดจาก 15 เป็น 10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

8. สุดท้ายเมื่อมีการกำหนดค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศแล้ว สิ่งที่ต้องทำคู่กันคือสถานีตรวจวัดและระบบแจ้งเตือน ที่ปัจจุบันยังมีสถานีตรวจวัดไม่ครบทุกจังหวัดและการแจ้งเตือนของภาครัฐยังมีไม่เป็นระบบ เราสามารถใช้ระบบแจ้งเตือนแบบอัตโนมัติผ่านโทรศัพท์มือถือ (Cell Broadcasting) ในการแจ้งเตือนความเสี่ยงสำหรับประชาชนในรายพื้นที่ได้

แน่นอนครับว่า 8 ข้อนี้ คงไม่ใช่ทั้งหมดในการแก้ปัญหา PM2.5 แต่ผมเชื่อว่าในรัฐบาลพรรคก้าวไกล ที่เราจะเพิ่มงบประมาณให้กับท้องถิ่นมากขึ้น นโยบายต่างๆ ของผู้บริหารเมือง เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ห้องปลอดฝุ่น ปลอดภัยสำหรับกลุ่มเปราะบาง ทั้งของคุณชัชชาติ และของผู้บริหารเมืองอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน จะสามารถทำได้อย่างอิสระขึ้นเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนแน่นอน

ปัญหา PM2.5 เป็นปัญหาที่ยาก แต่หลายประเทศสามารถทำให้ปัญหานี้ดีขึ้นได้ ผมก็เชื่อว่าประเทศไทยสามารถแก้ปัญหานี้ให้ดีขึ้นได้ครับ

ที่มา – ข่าวสด