การทำงานทุกอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นงานประเภทไหน สิ่งจำเป็นที่สุด ที่จะ “ช่วย” ให้ประสบความสำเร็จได้ คือ การเริ่มต้นจาก “ต้นทุน” ที่ดีและต้นทุนที่ดี สำหรับ การปลูกพืช คือการเตรียมดินที่ดี
ไอดอลเกษตรต้นแบบวันนี้ 2 คน คือ คุณข้าวฟ่าง ดนพล และ คุณปิง วิไลลักษณ์ ชูช้าง เจ้าของ คีรีฟาร์ม จาก จ.กาฬสินธุ์
คุณปิง เล่าเรื่องราวชีวิต และประสบการณ์ที่เคยสู้ชีวิตในเมืองใหญ่ ก่อนจะหันหลังกลับมาเป็นเกษตรกร
“ข้าวฟ่าง กับปิง ต่างเคยทำงานที่กรุงเทพฯ มาก่อน ในส่วนของปิงนั้น เรียนจบ นิติศาสตร์ ม.รามคำแหง เริ่มต้นการทำงาน ด้วยการทำงานแวดวงการศึกษา ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง การทำงานตรงนั้น ยอมรับว่าหนัก และเครียดมาก สมัยนั้น “โรคซึมเศร้า” ยังไม่เป็นที่รู้จัก เราอยู่ตรงนั้น รู้สึกได้เลยว่าเราเหมือนจะป่วย ไม่อยากตื่น ไม่อยากออกจากบ้านไปทำงานเลย…”
ปิง วิไลลักษณ์ สะท้อนชีวิตการทำงานของตัวเอง และรู้สึกทนทุกข์กับการ “เอาตัวรอด” ในเมืองใหญ่ ซึ่งใช้เวลาราว 10 ปีเต็มๆ
คุณปิง เล่าว่า เรารู้สึกว่าการทำงานในกรุงเทพฯ มันอยู่ยากมากๆ มีปัญหาอะไรหลายอย่างสะสม ตั้งแต่ปี 2554 ที่น้ำท่วมใหญ่ คุณฟ่างเจอวิกฤติ เราเองก็สะสม เหนื่อย เครียด อยากจะกลับบ้านมาพัก กระทั่งปี 2561 ก็เลยกลับมาเลี้ยงไส้เดือน ซึ่งเดิมคือมีต้นทุนความรู้อยู่บ้าง
ตอนที่กลับมา เราก็มาเข้าร่วมโครงการ Young Smart Farmer และมาเจอกับ “ข้าวฟ่าง” ซึ่งเขาทำเห็ด จึงมีการแชร์วัตถุดิบด้วยกัน โดยมีการแชร์กันในกลุ่ม
“ครอบครัวของเราก็เป็นเกษตรกร ส่วนพ่อแม่ของฟ่าง เคยทำงานเป็นราชการในกรมส่งเสริมการเกษตร จึงแนะนำว่า ควรจะไปอบรมเรียนรู้เกี่ยวกับเกษตร เราอยากรู้เรื่องอะไร เราก็ไปอบรมเรียนรู้ ซึ่งเขาจะสอนหลายๆ เรื่อง นอกจากเทคนิคการปลูกพืช การทำปุ๋ย การทำดินไส้เดือนแล้ว ยังมีคำแนะนำเกี่ยวกับ โมเดลในการทำธุรกิจเกษตร และการทำบัญชีใช้จ่าย ซึ่งการอบรมทั้งหมด ไม่เสียค่าใช้จ่าย”
การทำธุรกิจขายดิน คือ งานต่อยอดจากการเลี้ยงไส้เดือน รายได้เดือนละแสน
คุณปิง เล่าว่า สาเหตุที่ทำดินมูลไส้เดือน เพราะประเมินแล้วว่า จะให้ทำแบบพ่อแม่ เช่น การปลูกพืช ปลูกผัก ก็คงไปไม่รอด เราจึงศึกษาเรื่องนี้ และทดลองเลี้ยงมาก่อน โดยคิดว่า เราจะทำสิ่งที่เราอยากทำ และไม่รบกวนคนอื่นมากจนเกินไป จึงเริ่มต้นจากการเลี้ยงไส้เดือน จากนั้น ก็ต่อยอดเป็นการทำดินมูลไส้เดือนขาย
“การเลี้ยงไส้เดือน ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถ้าเราเลี้ยงไม่ดี ก็อาจจะตายยกโรงเรือนเลยก็ได้ ซึ่งเบื้องต้น เราจะใช้ขี้วัวเป็นหลักก่อน จากนั้น ก็มีการแช่น้ำ 3 น้ำ จากนั้นเมื่อดินมันเริ่มล่อนแล้ว ก็เอาไส้เดือนมาใส่ ซึ่งความรู้ที่ได้ มาจากการอ่าน ซึ่งช่วงนั้น อินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลายมาก ในเวลาต่อมา เริ่มมียูทูบ อินเทอร์เน็ตดีแล้ว ก็หาข้อมูลต่างๆ จากยูทูบ ทดลองทำตาม บวกกับการไปอบรมด้วย โดยเริ่มต้นจากการเลี้ยง 4-5 กะละมังก่อน เมื่อเลี้ยงรอด ก็เริ่มขยายเป็นบ่อปูน” คุณปิง กล่าวและว่า
สิ่งที่ไส้เดือนต้องการไม่มีอะไรมากเลย แค่อาหาร และที่อยู่ที่เหมาะสม หาก 2 สิ่งนี้ไม่ดี ไส้เดือนก็ไม่ยอมกิน และ “ผอมตาย” ไป
เจ้าของแบรนด์ดินคีรี เผยว่า ปัจจุบันนี้เราสามารถผลิตดินจากมูลไส้เดือน ได้สัปดาห์ละ 2 ตันครึ่ง เดือนละประมาณ 10 ตัน ลูกค้าที่เข้ามา ส่วนใหญ่ จะเคยเข้ามาดูงานในฟาร์มของเราก่อน ซึ่งฟาร์มของเรามีการเปิดศูนย์การเรียนรู้ เพื่อแบ่งปันความรู้ด้านเกษตรให้กับคนที่สนใจ เมื่อเขาเห็นขั้นตอนการทำงานแล้ว เขาก็มีความมั่นใจที่จะซื้อดินไปเพาะปลูก
เมื่อถามว่ารายได้จากการขายดินตรงนี้เป็นอย่างไร คุณปิง บอกว่า บางเดือนก็มีรายได้ถึงหลักแสนบาท แต่จะขายดีหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับฤดูกาล น่าเพาะปลูกด้วย ซึ่งดินของเราสามารนำไปใช้ปลูกพืชได้ทุกชนิด และที่สำคัญคือ เวลาเรานำดินเข้าเครื่องร่อนดิน มันจะมีตัวอ่อน หรือ ไข่ไส้เดือนบางส่วนหลุดรอดไป ซึ่งการมีไส้เดือน ก็เหมือนเป็นการพรวนดินไปในตัว หากมีการลดน้ำมันก็ช่วยให้มันเจริญเติบโตได้ ซึ่งสิ่งที่ไส้เดือนต้องการ ก็มีเพียงเท่านี้ และมันไม่ทำลายพืชผลด้วย
คุณปิง วิไลลักษณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ สถานะการทำงานของเราเปลี่ยนไป วิธีความคิด และวางแผนก็เปลี่ยนแปลงไป เราเป็นเจ้าของกิจการ ก็ต้องคิดมากขึ้น สิ่งที่เราได้จากการทำงานในกรุงเทพฯ ก็คือความอดทน และรู้จักการทำงานเป็นขั้นตอนต่างๆ มันทำให้เรากลับมาทำตรงนี้ดีขึ้น ไม่ใช่ว่ามันจะไม่ดีไปเสียทุกอย่าง เพียงแต่เรารู้สึกว่าไม่ไหว ต้องกลับมาทำในสิ่งที่เราอยากทำ
ส่วนสิ่งที่อยากทำหลังจากนี้ ข้างฟ่าง กับ ปิง มีความรู้สึกเหมือนกันว่า หากเป็นไปได้ เราก็อยากทำอะไรที่เป็น Social Enterprise (ธุรกิจเพื่อสังคม) อะไรที่เราจะพอทำแล้วช่วยเหลือสังคมได้ เราก็อยากทำ อยากแบ่งปัน ทั้งความคิด ความรู้ต่างๆ มันเป็นที่มาของการเปิดศูนย์เรียนรู้ แต่…สิ่งสำคัญ ก่อนที่เราจะไปช่วยคนอื่น ตัวเราเองก็ต้องมีแรง และแข็งแรงก่อน
“เราพยายามจ้างงานคนในชุมชน เพราะเราต้องการแบ่งรายได้ให้กับผู้คนในพื้นที่แห่งนี้ โดยมีประมาณ 5-6 คน หมุนเวียนกันเข้ามาช่วยงาน และเมื่อถึงหน้าเพาะปลูก เขาก็ไปทำของเขาเอง เราพยายามสร้างเครือข่ายชุมชน เพื่อช่วยเหลือผู้คน สามารถนำดินไปเพาะปลูกเกษตรอินทรีย์กับจุดไหนได้บ้าง เช่น กลุ่มปลูกพืชผักอินทรีย์ บางพื้นที่เขาเก่งเรื่องการปลูกผัก แต่วัสดุที่ใช้ เช่น ปุ๋ย ดินมูลไส้เดือน เขาก็มารับกับเรา”
แนะนำมนุษย์เงินเดือน สู่งานเกษตร
ช่วงท้าย คุณปิง ได้แนะนำ สำหรับคนที่ทำงานในกรุงเทพฯ หรือ มนุษย์เงินเดือน ที่อยากจะผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรว่า ให้ลองปลูกหรือทำเกษตรอะไรในพื้นที่ของตนเองก่อน อย่าเพิ่งลงทุน ลงแรงหน้างานเลย เพราะเท่าที่เห็นบางคน เขาไม่มีเวลา แต่มาซื้อที่ดิน แล้วไม่มีขอบรั้ว หรือ คนดูแลที่ชัดเจน
“พืชทุกชนิดต้องการการดูแล จะปลูกทิ้งไว้ มันใช้ได้กับพืชบางชนิดเท่านั้น โดยเฉพาะพืชที่มูลค่า อย่างเช่น ทุเรียน มาปลูกแล้วจะปล่อยให้เทวดาเลี้ยง มันก็เหมือนเอาเงินก้อนมาโยนทิ้ง ต้องวางแผน เตรียมพร้อม “ความผิดพลาด” เป็นสิ่งที่เราต้องเจอ จะวางแผนดีแค่ไหนก็ต้องเจอ เพราะบางครั้งเราไม่สามารถควบคุมธรรมชาติได้ แต่เราต้องทำให้มันเสียหายน้อยที่สุด”
สำหรับใครที่สนใจ ปุ๋ยมูลไส้เดือน ดิน และอุปกรณ์เพาะกล้า ก็สามารถ เข้าไปศึกษาได้ที่ เลขที่ 222 ม.2 ต.โนนน้ำเกลี้ยง อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์
ขอบคุณที่มา – ไทยรัฐ