“เศรษฐา” มอบทนายยื่นฟ้อง “ชูวิทย์” 500 ล้าน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ฐานหมิ่นประมาท เหตุจงใจใส่ความ มีวาระซ่อนเร้น หวังผลการเมือง เตือน ระวังถูกแฉบริษัทลูกชายเลี่ยงภาษีที่พ่อเอามาแฉคนอื่น
วันที่ 7 สิงหาคม 2566 นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจาก นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณียื่นฟ้อง นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา กรณีที่ นายชูวิทย์ กล่าวหาว่าบริษัท แสนสิริ โดย นายเศรษฐา ซื้อที่ดินและมีการหลีกเลี่ยงภาษี ว่า นายเศรษฐา มอบอำนาจให้ตนฟ้องและดำเนินคดีกับ นายชูวิทย์ โดยมีสาระสำคัญว่า
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 จำเลยทราบอยู่แล้วว่าในวันที่ 4 สิงหาคม 2566 จะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา และในวันประชุมรัฐสภาดังกล่าว คาดหมายว่าจะมีการเสนอชื่อในฐานะเป็นบุคคลที่สมควรจะได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ต่อที่ประชุมรัฐสภา โดยจำเลยจัดแถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชนและสาธารณชน ที่โรงแรมเดอะเดวิส สุขุมวิท 24 โดยใช้ชื่อว่า “แฉเพื่อชาติ EP 1” ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ป่าวประกาศใส่ความโจทก์ต่อหน้าสื่อมวลชนที่ไปทำข่าว และมีการถ่ายทอดสดเผยแพร่ต่อสื่อออนไลน์ ทั้งสื่อโทรทัศน์ สื่อออนไลน์แพลตฟอร์มต่างๆ ในลักษณะใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม เพื่อให้ประชาชนบุคคลทั่วไป รวมทั้งสมาชิกรัฐสภา ทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ที่จะต้องลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบให้โจทก์เป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งบุคคลทั่วไป ที่ได้รับฟังรับชมการแถลงข่าวของจำเลย หลงเชื่อและเข้าใจว่าโจทก์เป็นบุคคลไม่ดี เป็นคนที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่สมควรที่จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ก่อนการแถลงข่าว บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้เผยแพร่แถลงการณ์ต่อสาธารณะ หัวข้อ “แสนสิริ ชี้แจงซื้อที่ดินถูกต้องตามหลักกฎหมายและธรรมาภิบาล” ยืนยันว่าบริษัทดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาล ถูกต้องตามกฎหมาย โปร่งใสและตรวจสอบได้ จำเลยสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงตามความจริงที่ถูกต้องได้ ทั้งต้องใช้ความระมัดระวังในการเสนอข้อเท็จจริง จำเลยกลับไม่ตรวจสอบให้ดีก่อนมีการแถลงดังกล่าว แต่ยืนยันข้อเท็จจริงและมีเจตนาที่จะไม่ให้สมาชิกรัฐสภา ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ที่จะต้องลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบให้โจทก์เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น และจำเลยมีเจตนาให้ประชาชนบุคคลทั่วไปที่ได้รับชมรับฟังการแถลงข่าว หลงเชื่อและเข้าใจทันทีว่าโจทก์เป็นบุคคลไม่ดี โกงภาษี ไม่มีธรรมาภิบาล เป็นคนที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ทำให้โจทก์ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง
นายวิญญัติ กล่าวต่อไปว่า ความจริงผู้ขายได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการโอนแบ่งคืนให้ผู้ถือหุ้นคนละวันกัน จึงไม่ถือว่าบุคคลดังกล่าวได้กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพร้อมกัน ต่อมาเมื่อมีการขายให้แสนสิริบริษัทเดียว โดยต่างคนต่างขายคนละวัน หรือแม้ว่าจะขายในวันเดียวกัน ผู้ขายทั้งหมดก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ในฐานะห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 100/2543 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2543 ข้อ 4 (2) เนื่องจากข้อเท็จจริงกรณีนี้ไม่ได้มีการเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมพร้อมกัน จึงให้บุคคลแต่ละคนที่ถือกรรมสิทธิ์รวม เสียภาษีเงินได้ในฐานะบุคคลธรรมดา โดยแยกเงินได้ตามส่วนของแต่ละคนที่มีส่วนอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ถือกรรมสิทธิ์รวม
เรียกค่าเสียหาย 500 ล้าน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี
ขณะเดียวกัน จำเลยยังทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อร่างกายและจิตใจ เป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายข้อความ ซึ่งฝ่าฝืนความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์ หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของโจทก์ ทำให้โจทก์ขาดความน่าเชื่อถือจากประชาชน เนื่องจากโจทก์เป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงและเป็นบุคคลที่พรรคเพื่อไทย มีมติให้ส่งชื่อกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
“ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า นายชูวิทย์ มีเจตนาพูดไม่ครบถ้วน ให้ข้อเท็จจริงในลักษณะให้เกิดความเข้าใจผิด และมีวาระซ่อนเร้นที่จะกลั่นแกล้งโจทก์หรือไม่ การใส่ความ นายเศรษฐา ให้ประชาชนและสมาชิกรัฐสภาเชื่อว่า นายเศรษฐา กระทำผิดกฎหมายและขัดธรรมาภิบาล เพื่อหวังผลทางการเมือง และไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างที่ นายชูวิทย์ กล่าว ซึ่งทางโจทก์ได้ยื่นฟ้องพร้อมเรียกค่าเสียหายจาก นายชูวิทย์ จากการกระทำละเมิดต่อโจทก์ดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 500 ล้านบาทถ้วน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปีของเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์”
จากนั้น นายวิญญัติ กล่าวต่อ ตนทราบว่า นายชูวิทย์ กำลังป่วย จึงให้กำลังใจในฐานะเพื่อนมนุษย์ แต่ที่ต้องฟ้องไม่ใช่การรังแกคนป่วย เพราะการกระทำของ นายชูวิทย์ เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดกฎหมาย จะใช้สิทธิละเมิดผู้อื่นมิได้ เราทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน หากโดนละเมิดสิทธิ นายเศรษฐา ก็ต้องปกป้องสิทธิของตัวเอง ไม่เช่นนั้นคนทั่วไปและสมาชิกรัฐสภาหรือวิญญูชน ย่อมเข้าใจในทางไม่ดีต่อ นายเศรษฐา และยังมีการกล่าวหรือกระทำการให้ร้ายอยู่ต่อไป แม้ นายชูวิทย์ จะบอกว่าตัวเองป่วย ใกล้ตาย มีเวลาไม่นาน แต่ก็ใช่ว่าสิ่งที่พูดจะต้องจริง ทางกฎหมายคือเจตนาใส่ความนั่นเอง เมื่อตนยื่นฟ้องเป็นคดีต่อศาลอาญาแล้ว อยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าคดีอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ไม่ควรนำไปขยายประเด็นหรือใส่ความอีก เพราะจำเป็นต้องมีการฟ้องดำเนินคดีตามสิทธิ์
“กล่าวโดยสรุป คุณเศรษฐา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ย่อมอาจถูกตรวจสอบได้ แต่ประชาชนที่รับข้อมูลข่าวสารต้องพึงระวังในข้อมูลนั้น และต้องรอบด้าน ไม่ใช่รีบตัดสินเพื่อเชื่อเลยทีเดียว เรื่องนี้เกี่ยวกับเรื่องภาษีและเป็นการดำเนินการตามมาตรการการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร ไม่ใช่เรื่องเลี่ยงภาษีหรือทำให้รัฐเสียหาย เปรียบเหมือนประชาชนวางแผนลดหย่อนภาษี ด้วยการซื้อประกันและกองทุนต่างๆ เพื่อมาใช้ลดหย่อนจ่ายภาษีให้รัฐ ซึ่งเป็นประมวลรัษฎากร มาตรา 56 ที่พึงกระทำได้ จึงไม่ใช่ความผิด ส่วนเรื่องจริยธรรมเชื่อว่ามีจิตสำนึกเหมือนกันหมดทุกคน แต่เมื่อไม่ใช่การกระทำที่ผิดกฎหมาย ทุกคนสามารถกระทำได้ เชื่อว่าหลายคนเข้าใจในเจตนานี้”
เตือน เรืองไกร ยื่นตรวจสอบใครต้องมีหลักฐานชัดเจน
ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจาก นายเศรษฐา ระบุต่อไปว่า หลัง นายชูวิทย์ แถลงข่าวเปิดโปง นายเศรษฐา เจ้าตัวก็มานั่งปรึกษาในวันที่ 4 สิงหาคม ส่วนที่ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 500 ล้านบาท เพราะ นายชูวิทย์แถลงว่า นายเศรษฐา เลี่ยงภาษี 500 กว่าล้านบาท พร้อมเตือน นายชูวิทย์ ให้ย้อนกลับไปดูบริษัทลูกทั้งหมดที่ถือหุ้น บริษัท เสริมสุขเติมตระกูล ประกอบธุรกิจโรงแรม ขณะนี้มีคนกำลังเปิดหลักฐาน คล้ายกับที่ นายชูวิทย์ มาแฉ นายเศรษฐา และบริษัท แสนสิริ ที่เลี่ยงภาษี อยากให้ นายชูวิทย์ เอาเวลาไปเตรียมตัวให้ลูกจะดีกว่า
ส่วนกรณีที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ไปยื่นหลักฐานให้กรรมการธิการของวุฒิสภาตรวจสอบนั้น ถือเป็นสิทธิที่จะกระทำได้ แต่เรามั่นใจในข้อมูลที่เป็นจริง พร้อมฝากเตือน นายเรืองไกร หากจะไปยื่นตรวจสอบใครต้องมีหลักฐานชัดเจน ไม่ใช่ไหลไปตามกระแสแบบนี้ ยืนยัน นายเศรษฐา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการซื้อขายที่ดินแปลงนี้ เพราะการซื้อขายอสังหาฯ มีทีมจัดซื้อที่รับผิดชอบอยู่ ผู้บริหารสูงสุดไม่จำเป็นต้องลงไปรับทราบและดำเนินการทุกเรื่อง
สำหรับเรื่องที่ นายชูวิทย์ อ้างว่ามีกรณีตัวอย่างที่สรรพากรลงโทษเอาผิด บริษัทที่ซื้อขายที่ดินแล้วมีพฤติกรรมหลบลีกเลี่ยงภาษีเหมือน นายเศรษฐา นั้น ย้ำว่า แนววินิจฉัยที่ นายชูวิทย์ เอามาพูด เป็นคำพิพากษาเก่าปี 2542 แต่ปัจจุบันมีการบังคับใช้ประกาศสรรพกรฉบับใหม่ที่ ป.100/2543 เรื่องการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและอากรแสตมป์กรณีการขายการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ จึงขอให้ นายชูวิทย์ ไปศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจเรื่องนี้มาใหม่
อย่างไรก็ตาม นายวิญญัติ เปิดเผยในเวลาต่อมาว่า ศาลอาญารับคำร้องที่ยื่นฟ้อง นายชูวิทย์ เลขคดี อ.2285/2566 นัดไต่สวนมูลฟ้อง ในวันที่ 9 ตุลาคม 2566 เวลา 09.00 น.
ที่มา – ไทยรัฐ