‘สมฤทธิ์’ งงกิจกรรมเชิดชูอาหารถิ่น วธ.มุ่งหารสชาติของ ‘ใคร’ ที่หายไป? ชี้นี่คือความไม่เข้าใจวัฒนธรรมของคน วธ.เอง

นับตั้งแต่เอกสาร กิจกรรม “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ภายใต้โครงการการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เผยแพร่ในโลกโซเชียล จนถึงวันนี้ยังมีหลายภาคส่วนกล่าวถึงเรื่องดังกล่าวอย่างกว้างขวาง

นายสมฤทธิ์ ลือชัย นักประวัติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมอุษาคเนย์ ได้ระบุทางเฟซบุ๊ก Somrit Luechai เมื่อวันที่ 3 กันยายนด้วยว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรมให้เหตุผลว่า
การจัดงาน “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น”
เป้าหมายหนึ่งคือ
เพื่อค้นหา “รสชาติที่หายไป”
ค้นหาเพื่อ?
ก่อนจะถามว่าค้นเจอไหม
ขอถามก่อนว่ารสชาติของใครครับ?
อาหารเป็นเรื่องวัฒนธรรมของท้องถิ่นก็จริง
แต่รสชาติเป็นเรื่องเฉพาะตัว
แถมรสชาติที่หายไป
ก็แสดงว่ามันสูญสิ้น
หรือกลืนกลายไปเป็นรสอื่น
นี่คือวัฒนธรรมที่มีพลวัตร หรือ dynamic
มันไม่มีหรอกรสชาติแบบดั้งเดิมที่ทรงคุณค่า
แล้วไปสืบค้นเพื่ออนุรักษ์ไว้
เป็นไปได้หรือ?
แต่ที่เสนอมามันไม่ใช่รสชาติ
มันคืออาหารแบบเมนูแปลก หรือหายาก
“ยำไกน้ำของ ตำจิ้นแห้ง ฮังเลลำไยฯ”
มันตามหารสชาติที่หายไปตรงไหน
นี่คือความไม่เข้าใจเรื่องวัฒนธรรม
ของคนในกระทรวงวัฒนธรรม
ครับ

ที่มา – มติชน