ตำรวจ ปคบ. บุกทลายโรงงานผลิตลูกชิ้นเถื่อน 2 แห่ง ในพื้นที่ชานเมือง(ปทุมธานี) พบดัดแปลงบ้านพักเป็นโรงงาน มีกำลังการผลิตวันละ 300 – 500 กิโลกรัมขึ้นไป ก่อนหน้านี้ได้เข้าจับกุมมาแล้วหลายแห่ง โดยเมนูยอดนิยมคือ “ลูกชิ้นหมู” และ “ไส้กรอกหมู” มีการปลอมแปลงฉลาก ปนเปื้อนสารกันบูดที่เป็นอันตราย ขณะที่ผู้บริโภคค่อนข้างสังเกตได้ยาก ซึ่งผู้ประกอบการร้านอาหารควรมีมาตรการในการซื้อลูกชิ้นที่มีแหล่งผลิตชัดเจน น่าเชื่อถือ เพราะอันตรายที่ตกมาถึงผู้บริโภคสะสมถึงขั้นตับไตอักเสบ หรือท้องร่วง ถึงขั้นเสียชีวิต
วันนี้ (22 ม.ค. 67) ตำรวจ ปคบ. ร่วม อย. บุกทลายโรงงานผลิตลูกชิ้นเถื่อนย่านปทุมธานี 2 แห่ง ส่งขายปทุมธานี และพื้นที่ใกล้เคียง ยึดของกลางจำนวนมาก โดยก่อนหน้านี้มีการบุกทลายโรงงานลูกชิ้นเถื่อนมาแล้วหลายแห่ง
กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (กก.4 บก.ปคบ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์โรงงานลูกชิ้นเถื่อน มีการกวาดล้างอยู่เสมอ ส่วนใหญ่ลักลอบผลิตอยู่ในพื้นที่ปริมณฑล เช่น ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม
ผู้กระทำผิดจะดัดแปลงบ้านพักอาศัย ลักษณะบ้านเดี่ยวชานเมืองต่อเติมเป็นโรงงานเถื่อน และจากการจับกุมผู้กระทำผิด พบว่าโรงงานผลิตลูกชิ้นเถื่อนมีการผลิตแบบวันต่อวัน จากข้อมูลที่จับกุมตรวจค้นได้พบมีการผลิตประมาณวันละ 300 – 500 กิโลกรัมขึ้นไป
สำหรับโรงงานผลิตลูกชิ้นเถื่อน ผู้กระทำความผิดจะส่งขายใน 2 ลักษณะ คือ ส่งขายลูกค้า ซึ่งเป็นร้านค้าวัตถุดิบตามตลาดสดค้าส่งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อจำหน่ายให้ร้านอาหารเพื่อประกอบอาหารจำหน่ายอีกทอด กลุ่มลูกค้าที่รับลูกชิ้นไปจำหน่ายเป็นกลุ่มลูกค้าร้านอาหาร ขายส่งวัตถุดิบสำหรับขายบะหมี่หรือก๋วยเตี๋ยว อีกส่วนส่งขายให้พ่อค้าคนกลาง ที่นำไปขายตามตลาดนัด
ประเภทลูกชิ้นที่โรงงานเถื่อนมักผลิตคือ 1. ลูกชิ้นหมู 2. ไส้กรอกหมู 3. ไส้กรอกไก่ 4. หมูยอ 5. ไก่ยอ โดยประเภทลูกชิ้นดังกล่าวเป็นที่นิยมในท้องตลาด มีการนำไปใช้ประกอบอาหารจำหน่ายได้หลายอย่าง เช่น ร้านขายก๋วยเตี๋ยว,บะหมี่ ซึ่งมีอยู่อย่างแพร่หลาย ก็จะใช้ลูกชิ้นหมูเป็นวัตถุดิบหลัก
โดยเหตุที่มีการลักลอบผลิตกันมากในประเภทลูกชิ้นดังกล่าว นอกจากเป็นที่นิยมของตลาดแล้ว วัตถุดิบในการผลิตลูกชิ้นดังกล่าวยังหาง่าย มีราคาถูก และใช้ผสมเจือปนกัน เพื่อลดต้นทุนได้ เช่น ลูกชิ้นหมู มีการผสมเศษเนื้อไก่ไปด้วย เนื่องจากเศษเนื้อไก่ราคาถูก เมื่อนำมาผสมกันจะลดต้นทุนการผลิตได้มาก
พฤติกรรมผู้กระทำผิดส่วนใหญ่ มีลักษณะจำหน่ายลูกชิ้นแสดงฉลากไม่ถูกต้อง คือ ผลิตจำหน่าย บรรจุถุงส่งขายแบบถุงเปล่า ไม่แสดงเลขสารอาหาร ไม่แสดงตรา ข้อความรายละเอียด ขณะเดียวกัน ตั้งโรงงานผลิตอาหาร โดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น ดัดแปลงสภาพอาคารเป็นที่ผลิตอาหาร โดยไม่ได้ขออนุญาต จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
นอกจากนี้ ผลิตโดยใส่สารเคมี วัตถุเจือปนอาหาร ใส่สารวัตถุกันเสีย เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด บางกรณีใส่สารต้องห้าม โดยผสมสารฟอกขาว หรือบอแรกซ์
ขณะเดียวกัน มีพฤติกรรมจำหน่ายอาหารที่ได้สับเปลี่ยนใช้วัตถุอื่นแทนบางส่วน หรือคัดแยกวัตถุที่มีคุณค่าออกเสียทั้งหมดหรือบางส่วน บางกรณีแสดงข้อความในฉลากว่าเป็นลูกชิ้นหมู แต่เจือปนด้วยเศษเนื้อไก่ที่รับซื้อมาจากท้องตลาดในราคาถูก เพื่อลดต้นทุนการผลิต
หลายกรณีมีการปลอมแปลงในลักษณะอาหารที่มีฉลากลวง หรือพยายามให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ในเรื่องสถานที่ที่ผลิต คือ กรณีลูกชิ้นที่แสดงฉลากซึ่งจัดทำขึ้นเอง โดยระบุสถานที่ผลิตเป็นลวง กรณีดังกล่าวผู้กระทำความผิดจัดทำฉลากขึ้นมาเอง โดยปลอมฉลากของแบรนด์ที่มีชื่อเสียง นำเลขสารบบอาหาร ของผู้อื่นมาใช้แสดงบนบรรจุภัณฑ์ที่ตนเองปลอมขึ้น
สำหรับผู้บริโภค สามารถตรวจสอบได้ว่าลูกชิ้นดังกล่าวมาจากโรงงานผลิตที่ถูกต้องจากเลข อย. ที่อยู่ข้างถุง หากมีการซื้อลูกชิ้นสดที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ หากเป็นลูกชิ้นที่ไม่มีบรรจุภัณฑ์ จะทำการตรวจสอบได้ยาก ดังนั้น ควรเลือกซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ
ผู้บริโภคสังเกตความผิดปกติได้ด้วยตัวเอง
ข้อสังเกต สำหรับการเลือกกินลูกชิ้นให้ปลอดภัย หากซื้อเป็นลูกชิ้นสด ควรเลือกที่ได้รับการรับรองจาก อย. ที่แสดงว่าไม่ใส่วัตถุกันเสียและสีผสมอาหาร รวมถึงเลือกจากร้านที่ควบคุมความเย็น ที่มีเครื่องหมาย อย. ระบุวัน เดือน ปี หมดอายุ เพราะเป็นตัวรับประกันได้ถึงความสะอาดของกระบวนการผลิต แต่ถ้าเลือกซื้อที่ปรุงสุกแล้วควรดูความสะอาดเป็นหลัก
ความอันตรายที่ผู้บริโภคกินลูกชิ้นที่มีการผลิตไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในโรงงานผลิตลูกชิ้นเถื่อน เพราะส่วนประกอบหลักคือ แป้ง เนื้อสัตว์ และไขมัน ไม่นับสารสังเคราะห์ต่างๆ ส่วนสารสำคัญๆ ในอาหารแปรรูปประเภทนี้คือ บอแรกซ์ สีผสมอาหาร สารกันบูด และโซเดียม แต่ละตัวก่อโรค และอาการเจ็บป่วยได้อย่างรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
เนื่องจากสารบอแรกซ์ ทำให้อ่อนเพลีย ตับไตอักเสบ เบื่ออาหาร หรือในรายที่มีอาการเฉียบพลัน อาจทำให้คลื่นไส้อาเจียน ท้องร่วง ถ่ายเป็นเลือด และชักหมดสติ ขณะที่สีผสมอาหาร สีสันจัดจ้าน หรือสีผิดจากธรรมชาติที่ควรเป็น ทั้งแดง ชมพู เหล่านี้ทำให้ตับไตทำงานหนัก เพื่อขับสารเคมีออกจากร่างกาย ขณะที่ สารกันบูด หากได้รับบ่อยๆ ก็ทำให้เกิดการสะสมเป็นอันตรายกับระบบทางเดินอาหาร ส่งผลต่อตับไต ทำให้ความดันโลหิตสูง.
ที่มา – ไทยรัฐ