ดวงอาทิตย์ยังคงปลดปล่อยมวลออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดพายุสุรินยะรุนแรงพุ่งเข้าหาโลกหลายระลอก โดยคาดกว่ากิจกรรมนี้จะเกิดขึ้นต่อไปจนถึงวันอังคารเป็นอย่างน้อย
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า โลกเผชิญพายุสุริยะเป็นวันที่ 3 ติดต่อกันในวันอาทิตย์ที่ 12 พ.ค. 2567 หลังจากดวงอาทิตย์ยังคงปลดปล่อยมวล (CME) พุ่งสู่โลก โดย CME ความเร็วสูงสุด 1,200 ไมล์ต่อวินาที มาถึงชั้นบรรยากาศชั้นนอกของโลกในช่วงเย็นวันอาทิตย์
ตลอดช่วง 2 วันที่ผ่านมา มีรายงานเบื้องต้นว่า พายุสุริยะทำให้ระบบพลังงานขัดข้องในบางพื้นที่, ทำให้คุณภาพของการสื่อสารความถี่สูงลดลง, สัญญาณจีพีเอสดับ และการโคจรของดาวเทียมมีปัญหา ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงใดๆ แต่ผลกระทบเหล่านี้จะดำเนินต่อไปอย่างน้อยจนถึงวันอังคาร
พายุสุริยะดังกล่าว ถูกปล่อยออกมาจากจุดที่เรียกว่า ‘R3664’ บริเวณซีกใต้ของดวงอาทิตย์ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าโลกประมาณ 15 เท่า โดยมันปลดปล่อยพายุสุริยะระดับ G5 หรือ ‘รุนแรงมาก’ (extreme) พุ่งเข้าสู่โลกเมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ที่โลกเผชิญพายุสุริยะระดับนี้
กิจกรรมของดวงอาทิตย์จะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับปานกลายถึงสูง ตั้งแต่วันที่ 12-14 พ.ค. โดยคาดว่าจะมีการลุกจ้า (solar flare) ปล่อยรังสีออกมาทั้งขนาดใหญ่ หรือ ‘X class’ และขนาดกลาง หรือ ‘M class’ ออกมา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคลื่นวิทยุและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกบนโลก
ขณะที่สภาพแวดล้อมของลมสุริยะจะรุนแรงขึ้นเนื่องจากการปลดปล่อยมวลอย่างต่อเนื่องของดวงอาทิตย์ และจะเป็นแบบนี้ต่อไปในวันที่ 12-13 พ.ค. ก่อนจะเริ่มลดลงในวันที่ 14 พ.ค. เนื่องจากดวงอาทิตย์หมุนจนจุด R3664 หันไปจากโลกแล้ว
ส่วนระดับความรุนแรงของพายุสุริยะที่ดวงอาทิตย์ปล่อยออกมา สูงสุดที่ระดับ G4 ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาจนถึงวันอาทิตย์ เนื่องจากการกิจกรรม CME ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่คาดว่าในวันที่ 13 พ.ค. พายุสุริยะจะมีความรุนแรงระดับ G1-G3 และเหลือเพียงระดับ G1 ในวันที่ 14 พ.ค.
ที่มา – ไทยรัฐ