อธิบดีกรมการแพทย์ เผยสถานการณ์เตียง ICU น่าเป็นห่วง พบมีเตียงว่างเหลือเพียง 20 เตียง แทบส่งต่อไม่ได้ ขยายจนเกือบไม่ไหวแล้ว ห่วงพันธุ์อินเดียระบาดซ้ำ

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.64 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงปัญหาเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่ กทม.เริ่มขาดแคลน โดยเฉพาะเตียงไอซียู ว่า ​​ขณะนี้ กทม.​ เป็นคนบริหารจัดการภาพรวม โดยสถานการณ์เตียงไอซียู ในภาครัฐ เหลือ 20 เตียง จาก 400 กว่าเตียง แทบจะไม่มีเตียงว่างเลย ทำให้การส่งต่อผู้ป่วยแทบทำไม่ได้ ซึ่งสถานการณ์นี้เป็นมากว่า 10 วันแล้ว ก่อนหน้า พบว่า หากมีผู้ป่วยมากวันละ 500-600 คน เตียงไอซียูก็จะตึงไปด้วย แต่สถานการณ์ปัจจุบันพบว่าเกือบจะ 2 เดือนแล้ว ที่พื้นที่ กทม. มีผู้ป่วยมากกว่าวันละ 1 พันรายขึ้นไป

“รพ.ราชวิถี ก่อนหน้านี้มีการขยายเตียงไอซียูที่โรงจอดรถ 10 เตียง ก็รับผู้ป่วยไป 12 ราย รพ.นพรัตน์ เพิ่งขยายไอซียูเสร็จเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวน 9 เตียง ก็เต็มแล้ว รพ.รามาธิบดี รพ.ศิริราช รพ.จุฬาลงกรณ์ ขยายเป็นโคฮอตไอซียู แทบจำเต็มไปเรียบร้อย ซึ่งตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา เราพยายามขยายศักยภาพ และรับได้เพิ่มขึ้นพอสมควร แต่ 10 วันหลังมานี้ตึงมาก”นพ.สมศักดิ์ กล่า ว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การที่มีผู้ป่วยอาการหนักมากขึ้นนั้น ตรงไปตรงมาคือเกิดจากสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ที่ยังครองการระบาดอยู่ และตอนนี้ก็มีเดลตา (อินเดีย) ที่กำลังเข้ามาชิงพื้นที่นั้น ทั้ง 2 สายพันธุ์สามารถแพร่เชื้อได้เร็ว สมมติถ้าเรามองว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงอาการเป็นสีเหลือง สีแดงเท่าเดิม แต่จำนวนผู้ป่วยมีมากขึ้นในแต่ละวัน ตัวคูณเยอะขึ้น ก็ส่งผลให้มีการจัดเตียงสีเหลือง สีแดงเยอะขึ้นด้วย แต่นี่เนื่องจากว่าทั้งสายพันธุ์อัลฟา และสายพันธุ์เดลตา ทำให้อาการเยอะขึ้นด้วย ดังนั้นโอกาสที่ผู้ป่วยจะมีอาการเปลี่ยนไปเป็นสีเหลือง สีแดงก็เยอะขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นในแง่ของความรุนแรง และจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหากับเตียงผู้ป่วยที่จะรองรับ

เมื่อถามว่าขณะนี้ทั้งสายพันธุ์อัลฟ่า และเดลตาที่ทำให้มีการแพร่เร็ว และอาการรุนแรง มีการประเมินหรือไม่ว่าต้องเพิ่มเตียงไอซียูอีกเท่าไหร่ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ตอนนี้เตียงไอซียูขยายยากแล้ว เพราะทุก รพ. ทั้งรัฐ โรงเรียนแพทย์ มีการขยายศักยภาพไปมาก รวมถึงนำแพทย์ฝึกหัด เรสซิเดนท์ของสาขาต่างๆ เข้ามาช่วยกันทำงาน แม้กระทั่ง รพ.มงกุฎวัฒนะ ที่มีการตั้งไอซียูสนามก็รับผู้ป่วยไปเต็มเอี๊ยดแล้ว

ดังนั้น แต่ละแห่งค่อนข้างขยายไอซียูเพิ่มยาก เพราะฉะนั้น ตอนนี้ก็ต้องพยายามเอาคนที่ป่วยเข้า รพ.ให้เร็ว ซึ่งจริงๆ เตียงสำหรับผู้ป่วยสีเขียวของภาครัฐก็ค่อนข้างตึง ใช้วิธีหมุนวันต่อวัน คนไข้หายกลับบ้านไปก็รับผู้ป่วยรายใหม่เข้ามา ฮอทพิเทลที่ตั้งขึ้นก็รับจนเต็มเกือบหมด แทบจะวันต่อวันที่ต้องหมุนกันเอา แต่ยังมี รพ.เอกชน ที่ตรวจสอบล่าสุดแล้วยังมีฮอทพิเทลว่างอยู่กว่า 2 พันเตียง

ทั้งนี้ หากเจอผู้ป่วยแล้วต้องนำเข้ารพ.เร็วเพื่อดูอาการ หากเริ่มมีอาการก็ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ถ้ายังไม่มีอาการก็ให้ยาฟ้าทะลายโจร หวังว่าจะลดการเปลี่ยนแปลงอาการจากเขียวเป็นเหลือง จากเหลืองเป็นแดงได้ เพราะฉะนั้นคนที่ป่วยแบบที่มีใบแล็บถูกต้องก็รีบไปฮอทพิเทล

จำนวนเตียง กทม.และปริมณฑล

อย่างไรก็ตาม อีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยเราได้ คือแคมป์คนงาน ที่เจ้าของให้บริษัทแล็บไปตรวจ โดยใช้แล็บที่ไม่ได้มาตรฐานนั้นพอตรวจเจอ แล้วประสานเข้ามาที่ 1668 เพื่อหาเตียงนั้น แต่แทนที่ 1668 จะทำหน้าที่หาเตียงให้ กลับต้องมาทำหน้าที่ในการตรวจสอบ และหาใบรับรองการตรวจแล็บที่ถูกต้องให้อีกด้วย เพราะใบแล็บที่โรงงานใช้เอกชนไปตรวจนั้นบางแห่งได้มาตรฐาน บางแห่งไม่ได้มาตรฐาน จึงทำให้ 1668 ต้องไปทำงานอืนที่ไม่ใช่การหาเตียง

นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ขณะนี้เตียงผู้ป่วยไอซียูโควิด-19 ใน รพ.ราชวิถี เต็มทุกเตียง ทั้งไอซียูเต็มรูปแบบ และไอซียูส่วนต่อขยายที่เพิ่มมา การดูแลผู้ป่วยสีแดงอัตราครองเตียงในห้องไอซียูโควิด เฉลี่ยอยู่ประมาณ 10-20 วันขณะนี้ผู้ป่วยฉุกเฉินที่เข้ามาที่โรงพยาบาล ยังต้องให้รอในหอผู้ป่วยฉุกเฉินเพื่อประสานหาเตียงที่อื่นรองรับ

ทั้งนี้ภาพรวมสถานการณ์เตียงในกรุงเทพ และปริมณฑลวันที่ 21 มิ.ย. จากกรมการแพทย์ พบว่า ห้องสำหรับผู้ป่วยสีแดง อย่างห้องไอซียูความดันลบ ผู้ป่วยครองเตียง 268 เตียง ว่าง 46 เตียง หอผู้ป่วยวิกฤตที่ดัดแปลงเป็นห้องความดันลบ ครองเตียง 689 เตียง ว่าง 68 เตียง ห้องไอซียูรวม ครองเตียง 267 เตียง ว่าง 34 เตียง ห้องสำหรับผู้ป่วยสีเหลือง ห้องแยก ครองเตียง 3,529 เตียง ว่าง 527 เตียง ห้องสามัญ ครอง 6,582 ว่าง 1,458 เตียง และห้องสำหรับผู้ป่วยสีเขียว hospitel ครองเตียง 10,263 ว่าง 3,267 เตียง เตียงสนาม ครองเตียง ว่าง 803 เตียง.

ที่มา : khaosod