กรมส่งเสริมสหกรณ์ดึงแพลตฟอร์มกลาง “ไทยเทรด.คอม” ค้าสินค้าเกษตรออนไลน์ คาดนำร่อง กลางมิ.ย. นี้ ฝ่าโควิด เจรจาโดยตรงผู้ซื้อรายย่อย รายใหญ่ โรงแรม อุตสาหกรรม โมเดิร์นเทรด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

วันที่ 21 เมษายน 2564 นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ (กสส.)เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ขับเคลื่อนแพลตฟอร์มกลางเพื่อเปิดตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรผ่านระบบออนไลน์ภายใต้นโยบายเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นคณะอนุกรรมการโครงการ หลังจากหารือกันมาต่อเนื่อง 4 ครั้ง

ได้ข้อสรุปว่าจะใช้แพลตฟอร์ม Thaitrade.com ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่มีอยู่เดิมมาใช้ในระยะนำร่อง ก่อนที่จะมีการขยายช่องทางเพิ่มเติมในระยะต่อไป โดยเป้าหมายโครงการคือการสร้างรูปแบบที่จะเพื่อให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้พบกันล่วงหน้าผ่านระบบการจับคู่ธุรกิจและยื่นคำเสนอซื้อขายได้จริง

ทั้งนี้ แพลต์ฟอร์มดังกล่าว อนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” มีอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) และอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานร่วมในการทำงาน คณะทำงานได้ประชุมรวม 4 ครั้ง มีการตั้งคณะทำงานภายใต้อนุฯ ซึ่งคณะทำงาน ได้กำหนดเป้าหมายให้แพลตฟอร์มกลาง เป็นตลาดกลางพาณิชย์อีเลคทรอนิค B2B ( Business to Business) ซึ่งจะเน้นปริมาณการซื้อขายครั้งละมาก ๆ ในขณะที่รูปแบบการค้าแบบ B2C (Business to Customer) มีหน่วยงานอื่นทำกันมากอยู่แล้ว ที่ประชุมเห็นว่าไม่จำเป็นที่จะต้องจัดทำขึ้นมาใหม่เพื่อแข่งขัน

คณะอนุฯเห็นว่ามี 2 แนวทาง คือ สร้างแพลตฟอร์มใหม่ขึ้นเลยต้องใช้งบประมาณ 30 ล้านบาท หรือพัฒนา ต่อยอดแพลตฟอร์มกลางที่มีอยู่แล้ว จึงเห็นว่าระยะนำร่องจะพัฒนาต่อยอดไทยเทรดดอทคอม ที่มีอยู่แล้วเพียงแต่มาพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มกลางเพราะจำเป็นต้องมีการใช้ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งแพลตฟอร์มนี้จะมีทั้งผู้ซื้อและผู้ขายมาเจอกัน ทั้งรายย่อย รายใหญ่ โรงแรม อุตสาหกรรมหรือโมเดิร์นเทรด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในระยะขยายผลจะสร้างศูนย์กลางเชื่อมโยงแพลตฟอร์มที่ขยายไปต่างประเทศและในประเทศ

ทั้งนี้ ในระยะนำร่องช่วงวิกฤตของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายกลุ่มเกษตรกร ที่จะซื้อขายผ่านไทยเทรด ประกอบด้วยกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ 152 แห่ง สหกรณ์ 40 แห่ง และวิสาหกิจชุมชน 63 แห่ง สินค้านำร่อง เช่น ข้าว ไข่ไก่ เนื้อโค โคขุน ผลิตภัณฑ์จากโคนม ผัก ผลไม้ เงาะ กล้วยหอมทอง ลิ้นจี่ ลำไย กาแฟ ยางพาราแปรรูป เช่น หมอนยาง ไม้ดอก ไม้ประดับ กล้วยไม้ สมุนไพร ซึ่งสำรวจความพร้อมและสินค้าได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP และมีการรับรองมาตรฐานต่าง ๆ สามารถเข้ามาค้าขายได้ สินค้าที่นำเข้าระบบนี้ ทางกระทรวงเกษตร ฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมประมง ปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตร จะมีหน้าที่รวบรวมสินค้า

ส่วนพณ. โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะดูแลหลังบ้านจะใช้รูปแบบของเอกชนกรณีศึกษาจากบริษัทไปรษณีย์ไทย เพื่อทำให้สามารถการซื้อขายได้จริง มีการจ่ายเงิน โอนเงินได้จริง ซึ่งพณ. จะรับผิดชอบกรณีนี้

โครงการจะเริ่มทดสอบระบบตั้งแต่ วันที่ 16-24 เม.ย. 2564 จะเปิดรับสมัครกลุ่มเป้าหมายมาอบรม ให้ความรู้ วันที่ 26-28 เม.ย. จะมีการ Work Shop ให้กลุ่มผู้สมัครมาขายสินค้าที่เตรียมการ และวันที่ 12-14 พ.ค. จะเริ่ม Work Shop ทดสอบระบบ เพื่อเตรียมความรู้ เตรียมสินค้าในการซื้อขายที่ผู้เชี่ยวชาญจะมาสอน และ 14 -18 มิ.ย. 2564 จะมีการซื้อขาย B2B เต็มรูปแบบ

เช่น ข้าวสาร จากสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ เช่น สหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้าธกส. สกต.สุรินทร์ ทั้งนี้ ในโครงการจะมีการติดตามการเก็บข้อมูลการซื้อขายเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ของสองกระทรวง

ที่มา:prachachat