สถานีพัฒนาที่ดินหนองคาย ให้คำแนะนำแก่เกษตรกร ปรับเปลี่ยนพื้นที่การผลิตไม่เหมาะสม ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) พลิกชีวิตสร้างรายได้
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.64 กรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินหนองคาย ได้ลงพื้นที่ บ้านนาฝากหมู่ 7 ต.นาฝาก อ.โพนทอง จ.หนองคาย ของนายเฉลิมศักดิ์ โพธนิกร เกษตรกรวัย 39 ปี จากการสำรวจพบว่า ปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม เจ้าหน้าที่จึงชี้แจงและแนะนำให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่การผลิตไม่เหมาะสม ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) จากนั้นสถานีพัฒนาที่ดินหนองคายได้เริ่มดำเนินการปรับโครงสร้างของดิน ประกอบด้วยกิจกรรมปรับรูปแปลงนาลักษณะที่ 1 ปรับรูปแปลงนาลักษณะที่ 2 การปรับแปลงนาแบบร่องน้ำยกคัน เพื่อปลูกพืชแบบผสมผสาน พร้อมสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยหมักจากสารเร่ง ซุปเปอร์ พด.1 น้ำหมักชีวภาพ จากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 โดโลไมท์เพื่อปรับปรุงดินกรด เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดเพื่อปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่ พร้อมพานายเฉลิมศักดิ์ไปศึกษาดูงานจากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จที่ จ.อุดรธานี
นายเฉลิมศักดิ์ โพธนิกร เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ทำงานเป็นพนักงานเอกชน มีรายได้รวมกับแฟนสาว ราว 60,000 บาทต่อเดือน หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิดรอบที่ 1 ทำให้เหลือรายได้ทั้งสองคนรวมกันเพียงหมื่นกว่าบาทต่อเดือน ทำให้ต้องตัดสินใจกลับบ้าน ซึ่งยังไม่มีจุดมุ่งหมาย หลังจากกลับมาบ้านเพียง 3 วัน ได้ออกจากบ้านมาอยู่ทุ่งนา หวังพลิกพื้นที่นาเดิมกว่า 18 ไร่ ที่แม่มอบให้และเคยทำนามาทุกปีก็ขาดทุนตลอด จนต้องปล่อยทิ้งร้าง แล้วทำนาแค่บางส่วน แต่ก็ยังพบปัญหาต้นทุนสูง ผลผลิตต่ำมาโดยตลอด ในวันนั้นทั้งคนรอบข้างและคนในหมู่บ้านมองว่าตนเองบ้า ที่จะมาพักอยู่ทุ่งนาที่ไม่มีไฟ ไม่มีน้ำใช้ ซึ่งหลังจากการเข้าร่วมโครงการฯ ในระยะเวลาไม่ถึง 6 เดือน ได้ปรับปรุงพื้นที่การผลิตให้เหมาะสม และทำกิจกรรมที่หลากหลายในรูปแบบเกษตรผสมผสาน ทั้งทางด้านพืช การปลูกกล้วย ไม้ผล พืชผักสวนครัว และเห็ดนางฟ้า ด้านประมง การเลี้ยงปลาดุก ปลาช่อนในบ่อดินและในกระชัง ด้านปศุสัตว์ การเลี้ยงเป็ดไข่ นกกระทา รวมไปถึงเลี้ยงด้วงมะพร้าว และกิจกรรมการเลี้ยงแหนแดง เพื่อใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ทำให้ปัจจุบันมีรายได้หมุนเวียนต่อเดือนหลังจากหักค่าใช้จ่าย รวม 65,300 บาท จากการขายไข่เป็ด 39,300 บาท ไข่นกกระทา 6,000 บาท ปลากระชัง 7,000 บาท ด้วงมะพร้าว 10,000 บาท เห็ดนางฟ้า 3,000 บาท ซึ่งทำให้มีรายได้เฉลี่ยวันละ 2,176 บาท
สำหรับการดำเนินการปรับเปลี่ยนพื้นที่การผลิตไม่เหมาะสม ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) เป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม เป็นการผลิตที่เหมาะสมสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ตลาดและตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีหน่วยงานต่างๆ บูรณาการร่วมกัน ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมหม่อนไหม ส.ป.ก. กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ การยางแห่งประเทศไทย และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร.
ที่มา:thairath