โรคเหี่ยวเขียวหรือโรคเหี่ยว (bacterial wilt disease) เป็นโรคที่สร้างความเสียหายให้กับพืชกว่า 200 ชนิด โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง มะเขือเทศ มะเขือ มันฝรั่ง พริก พริกไทย กล้วย ขิง ถั่วลิสง และยาสูบ ฯลฯ
สาเหตุของการเกิดโรคจากเชื้อแบคทีเรียราลสโตเนีย โซลานาซีเอรัม (Ral stonia solanacearum) ที่อาศัยอยู่ในดิน โดยการเข้าทำลายพืชทางราก ตามรอยแผลที่เกิดจากการทำลายของแมลง ไส้เดือนฝอย รอยฉีกขาดของราก หรือแผลที่เกิดในธรรมชาติ สามารถแพร่ระบาดไปกับน้ำได้ดี โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจะพบการระบาดรุนแรงและรวดเร็ว รวมทั้งสามารถติดไปกับหัวพันธุ์และแอบแฝงอยู่จนข้ามฤดูได้
การป้องกันกำจัดทำได้ค่อนข้างยาก เพราะเชื้อสามารถอยู่ในดินได้นาน ปัจจุบันยังไม่มีสารเคมีที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันกำจัด
จากสถิติขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) โรคเหี่ยวเขียวสร้างความเสียหายไปทั่วโลก มีมูลค่ากว่าปีละ 35,000 ล้าน บาท สำหรับไทยเราโรคนี้สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตมะเขือเทศและพริกคิดเป็นมูลค่ารวมกว่าปีละ 540 ล้านบาท
“การป้องกันและควบคุมโรคเหี่ยว ปัจจุบันเกษตรกรทำได้เพียงการไถดิน ผึ่งดินให้แห้งก่อนการปลูก แล้วปรับสภาพดินด้วยปูนขาว หรือกำจัดต้นพืชที่แสดงอาการเท่านั้น ส่วนสารเคมีเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย ยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในดินได้ ดังนั้นทีมวิจัยจึงพุ่งเป้าไปที่ไวรัสแบคทีรีโอฟาจ ซึ่งจากการทดสอบสามารถเข้าทำลาย และย่อยสลายแบคทีเรียก่อโรคได้โดยตรง ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะปลอดภัยต่อทั้งพืช ดิน มนุษย์ และสิ่งแวดล้อม”
ดร.อุดม แซ่อึ่ง ทีมวิจัยการวิเคราะห์และประยุกต์ใช้สารชีวโมเลกุล สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงการศึกษาและพัฒนา แบคทีรีโอฟาจ (bacteriophage) หรือ ฟาจ (phage) ไวรัสที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคในพืช เพื่อใช้เป็นสารชีวภัณฑ์ในการกำจัดเชื้อแบคทีเรียทดแทนการใช้สารเคมี
คุณสมบัติพิเศษของไวรัสชนิดนี้ มีความเฉพาะเจาะจงกับแบคทีเรียแต่ละชนิด ไม่ทำลายแบคทีเรียชนิดอื่นๆที่ไม่ใช่เป้าหมาย โดยเฉพาะแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ และจะหยุดเพิ่มจำนวนทันที เมื่อเชื้อแบคทีเรียเป้าหมายหมดไป ไม่เป็นพิษต่อพืช สัตว์และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นทางเลือกสำหรับการเกษตรแบบยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม การใช้ไวรัสแบคทีรีโอฟาจ ยังคงมีอุปสรรคและปัญหาสำคัญ คือ ความคงทนของตัวไวรัสเอง เมื่อฟาจต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกในสิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความเป็นกรดด่าง สภาพเกลือในดิน เพราะโครงสร้างประกอบด้วยโปรตีนและดีเอ็นเอที่เปราะบาง จึงแตกสลายได้ง่าย
ขณะนี้จึงจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาความคงทน โดยใช้งานวิจัยและเทคโนโลยี ทั้งทางชีววิทยาเคมี และฟิสิกส์ เพื่อนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ ให้สามารถนำแบคทีรีโอฟาจมาใช้งานได้จริง ในพื้นที่เกษตรกรรมต่อไปในอนาคต.
ที่มา:thairath