จากกรณี เอกสารการประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการ ซึ่งพบว่า มีการระบุความคิดเห็น จากคณะกรรมการในการสรุปประชุม ซึ่งหนึ่งในข้อคิดเห็นระบุว่า ถ้าเอามาฉีดกลุ่ม 3 (บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า) แสดงว่าเรายอมรับว่า ซิโนแวค ไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้นนั้น

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการประชุม หารือ ทางวิชาการ ไม่ควรที่จะไปพิพากษ์ วิจารณ์เพราะเป็นเรื่องของวิชาการ ตราบใดที่ยังไม่ได้มาเป็นขั้นตอนปฏิบัติ ก็ยังไม่มีผลอะไร การประชุมคณะกรรมการวิชาการ ก็มีอาจารย์แพทย์ ซึ่งแต่ละท่านเสียสละเวลาเข้ามา แม้ไม่ได้เป็นข้าราชการในสังกัดกระทรวง หรือลูกจ้างอะไร แต่ท่านสละตัวเองเข้ามาเพื่อให้ความเห็นของตนเองก็จะมีการบันทึกไว้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นแนวปฏิบัติ เพราะหลังจากนั้นต้องมีอีกหลายขั้นตอน ที่จะตกลงกันว่าจะปฏิบัติในแนวทางไหน

“เรื่องนี้ อย่าไปซีเรียส ลืมไปได้เลย เป็นเพียงความเห็นด้วยซ้ำว่าในการประชุมแต่ละท่านมีความเห็นอย่างไร ก็รวบรวมมา ก็ถูกต้องแล้ว จึงต้องมีคณะกรรมการวิชาการ เพราะไม่ได้ให้ใครคนใดคนหนึ่งตัดสินใจ และยังไม่ใช่บทสรุป หรือ แนวทางปฏิบัติ ต้องนำมาเข้าคณะกรรมการวัคซีนที่ต้องถกเถียงกันอีก”นายอนุทิน กล่าว

เมื่อถามต่อว่ามีข้อความในเอกสารระบุว่า หากใช้เป็นเข็มที่ 3 ให้บุคลาการแพทย์/ด้านหน้า ก็จะถือว่าเป็นการยอมรับว่าวัคซีนซิโนแวค มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ นายอนุทิน กล่าวว่า ตรงนั้นต้องสอบถามไปยังอาจารย์เหล่านั้น แต่ไม่ใช่วิพากษ์ วิจารณ์กันไปโดยที่ยังไม่มีแนวทางปฏิบัติหรือผลบังคับใช้ ส่วนจะนำวัคซีนไฟเซอร์มาฉีดเป็นเข็มที่ 3 ให้บุคลากรแพทย์หรือไม่

“ขอให้คนที่มีหน้าที่ได้ทำงาน เวลาวิพากษ์ วิจารณ์อะไรในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว มันก็พูดได้หมด แต่เวลาทำงานทุกคนมุ่งมั่นเพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชนให้มากที่สุด เขาจะมีความคิดอย่างไรก็แล้วแต่ ประโยชน์ก็ตกอยู่กับประชาชน วัคซีนซิโนแวค ก็ฉีดคนละ 2 เข็มตามที่มีการขึ้นทะเบียนไว้ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ก็อยู่เหนือเกณฑ์ เช่นที่ภูเก็ต ผลการศึกษาก็พบว่ามีประสิทธิภาพถึง 80% ที่เมืองจีน ฉีดทั้งประเทศ ผู้นำประเทศก็ฉีด ก็ไม่เห็นว่าเขาจะมีผลอะไร เราก็ทำตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 1.5 ล้านโดส เกิดจากการประสานงานระหว่างรัฐบาล 2 ประเทศ เงื่อนไขการตกลงต่างๆ อยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งต้องแจ้งมายังกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นผู้นำมาใช้ เพื่อให้เราปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นๆ เช่น ได้รับการบริจาคจากประเทศญี่ปุ่น ก็ห้ามนำไปขายต่อ เบื้องต้น วัคซีนไฟเซอร์ ไม่มีเงื่อนไข แต่เราก็ต้องนำวัคซีนมาฉีดให้เหมาะสม ประเทศไทยมีชาวต่างชาติจำนวนมาก เพื่อสร้างความปลอดภัยให้คนในประเทศ เราก็พร้อมจะฉีดให้เขาด้วย

เมื่อถามว่า วัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโด้ส จะนำมาฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นเรื่องวิชาการ ตนให้ความเห็นไม่ได้ รอให้คณะกรรมการวิชาการตกผลึกออกมา และตนก็พร้อมสนับสนุน เช่น ไฟเซอร์ต้องใช้น้ำเกลือผสมเพิ่มในการฉีด ตนก็จะจัดหางบประมาณในส่วนนี้มารองรับ ตนไม่มีหน้าที่ตัดสินใจว่า จะใช้วัคซีนชนิดไหน กี่เข็ม กี่โด้ส

ที่มา : khaosod