“โต๊ะหมู่บูชา” คือ โต๊ะที่จัดตั้งเครื่องสักการะพระพุทธรูป, พระบรมฉายาลักษณ์, พระบรมสาทิสลักษณ์, พระบรมรูปหล่อของพระมหากษัตริย์ รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ หรือรูปของบรรพบุรุษ ตามความเชื่อของแต่ละบ้าน ใช้วางเครื่องบูชาเพื่อแสดงความเคารพ และแสดงถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ซึ่งสืบทอดกันมายาวนาน
โต๊ะหมู่บูชามีอะไรบ้าง
การจัดโต๊ะหมู่บูชาที่เห็นโดยทั่วไปนั้นมีทั้งแบบไทย และแบบจีน เพื่อประกอบกิจกรรมต่างๆ เช่น โต๊ะหมู่บูชาถวายพระพร, โต๊ะหมู่บูชาประกอบกิจกรรมรับเสด็จ, โต๊ะหมู่บูชาในพิธีรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือของพระราชทาน, การจัดโต๊ะหมู่บูชาเพื่อถวายสักการะเนื่องในวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ รวมถึงการจัดโต๊ะหมู่บูชาที่บ้าน นอกเหนือจากพระประธานแล้ว บนโต๊ะหมู่บูชา ประกอบด้วยเครื่องบูชา ดังนี้
การจัดโต๊ะหมู่ 5
- กระถางธูป 1 กระถาง
- เชิงเทียน 3 คู่
- พานดอกไม้ หรือ พานพุ่ม 5 พาน
- แจกันดอกไม้ 1 คู่
การจัดโต๊ะหมู่ 7
- กระถางธูป 1 กระถาง
- เชิงเทียน 4 คู่
- พานดอกไม้ หรือ พานพุ่ม 5 พาน
- แจกันดอกไม้ 1 คู่
การจัดโต๊ะหมู่ 9
- กระถางธูป 1 กระถาง
- เชิงเทียน 5 คู่
- พานดอกไม้ หรือ พานพุ่ม 7 พาน
- แจกันดอกไม้ 2 คู่
วิธีเลือกพระประธานบนโต๊ะหมู่บูชา
“พระประธาน” คือพระพุทธรูปที่ตั้งอยู่บนโต๊ะหมู่บูชาตรงกลาง หลักการเลือกพระประธานที่นิยมมากที่สุด คือเลือกพระพุทธรูปปางประจำวันเกิดของเจ้าของบ้าน หรือเจ้าของบริษัท ได้แก่
- วันจันทร์ ปางห้ามญาติ หรือ ห้ามสมุทร
- วันอังคาร ปางไสยาสน์
- วันพุธ กลางวัน ปางอุ้มบาตร กลางคืน ปางปรินิพพาน
- วันพฤหัสบดี ปางสมาธิ
- วันศุกร์ ปางรำพึง
- วันเสาร์ ปางนาคปรก
- วันอาทิตย์ ปางถวายเนตร
นอกจากนี้ยังนิยมเลือกพระประธาน จากพระพุทธรูปจำลองพระคู่บ้านคู่เมือง เช่น พระพุทธชินราชจังหวัดพิษณุโลก, พระแก้วมรกต วัดพระแก้ว กรุงเทพมหานคร และหลวงพ่อโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นต้น
การตั้งพระพุทธรูปหลายๆ องค์ไว้บนโต๊ะหมู่บูชาเดียวกัน ต้องตั้งพระพุทธรูปลดหลั่นตามระดับ และทิศที่เหมาะสม เมื่อตั้งโต๊ะหมู่บูชาไว้ที่บ้านแล้ว ควรหมั่นทำความสะอาด เพื่อรักษามงคลแก่บ้าน เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัย