‘หมอภูมิคุ้มกัน’ เล่าอาการหลังติดโควิด สายพันธุ์เดลต้า ชี้ ซิโนแวค ช่วยร่างกายขจัดไวรัสเร็วขึ้น ทั้งยังลดการอักเสบและการลุกลามไปที่ปอด

วันที่ 15 ก.ค.64 พญ.ประภาพร พิสิษฐ์กุล สาขาวิชาโรคภูมิแพ้อิมมูโนวิทยาและโรคข้อ ภาควิชา​อายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เล่าอาการหลังการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้า โดยระบุว่า

เป็นไปตามคาดนะคะ ทราบผล sequencing ของไวรัสที่ติดเชื้อเป็นสายพันธุ์ Delta (B.1.617.2) ผลตรวจจาก swab ของหมอแสดงในข้อมูล COVID-19 Network Investigations (CONI) Alliance หมอ hi-lighted ด้วยสีแดงนะคะ

ล่าสุดมีข้อมูลตีพิมพ์ในวารสาร Science (DOI: 10.1126/science.abg6296) พบว่าในสิ่งแวดล้อมที่มีอากาศปิดและมีปริมาณไวรัสสูงๆ ที่มีการถ่ายเทอากาศไม่ดี (หรือไม่มี filter ที่ดัดจับไวรัสได้) ถ้าเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้นนานๆในที่สุดแล้วเราก็จะต้องหายใจเข้าปอดไปอยู่ดี (ไม่ว่าหน้ากากที่เราใส่จะดีเพียงใด) สิ่งนี้คงเป็นปัจจัยที่ทำให้หมอติดเชื้อด้วยค่ะ

เพราะฉะนั้นถ้าต้องเข้าไปในสถานที่แบบนั้นอย่าอยู่นานนะคะ เพราะจะมีโอกาสรับเชื้อได้มากขึ้น
จากข้อมูลที่ทราบกันดีว่าสายพันธุ์เดลต้ามีการกลายพันธุ์ที่เพิ่มความสามารถในการติดเชื้อได้ดีและสามารถเพิ่มจำนวนไวรัสในเซลล์มนุษย์ได้ดี ดังนั้นจึงสามารถเพิ่มจำนวนในร่างกายได้เร็วมีระยะฟักตัวที่สั้นและทำให้มีอาการแสดงได้เร็วดังนั้นการรู้ว่าเราเกิดการติดเชื้อโควิดได้เร็วเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะให้การรักษาได้อย่างรวดเร็วและลดโอกาสการเกิดข้อแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ การเข้าถึงการตรวจได้เร็วจะช่วยในส่วนนี้มาก (หวังว่าการปลดล็อคการตรวจหลายอย่างจะทำให้ขั้นตอนนี้เร็วขึ้น)

วันนี้หมอเลยมาเล่าอาการของการติดเชื้อโควิด สายพันธุ์ Delta ของหมอให้ฟังกันและดูว่าการฉีด Sinovac ช่วยเราอย่างไรนะคะ

โดยอาการของผู้ป่วยติดเชื้อโควิดจะแบ่งเป็น 2 ระยะคือ

1. ระยะแรกของการติดเชื้อ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการเริ่มต้นคล้ายเป็นหวัดทั่วไปนะคะ มีไข้ ปวดเมื่อยตัว มีน้ำมูก ระคายคอ คันคอ เจ็บคอ อาการเหล่านี้แถบจะแยกไม่ได้จากอาการหวัดทั่วไปเลย แต่อาการจมูกไม่ได้กลิ่น ดูเหมือนจะเป็นอาการที่ค่อนข้างจำเพาะกับการติดเชื้อโควิด (แต่อาการจมูกไม่ได้กลิ่นนี้ ไม่ได้เกิดในวันแรกๆ จะมาพร้อมๆกับอาการคัดจมูกและมีน้ำมูก) ถ้าดูในรูปจะเห็นว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ไวรัสเพิ่มจำนวนในร่างกาย การรักษาก็คือการรักษาตามอาการ (ให้ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก แก้ไอ เจ็บคอ) และการให้ยาต้านไวรัสในช่วงนี้จะช่วยลดปริมาณไวรัสลงและช่วยให้มีโอกาสการเกิดอาการแทรกซ้อนลดลง โดยระยะนี้จะใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อ การทำงานของภูมิคุ้มกัน

การฉีดวัคซีนช่วยเราอย่างไรในระยะนี้ วัคซีนที่กระตุ้นเม็ดเลือดขาวชนิด CD8 T cells ให้มีความทรงจำต่อเชื้อโรคได้ดีจะทำให้เมื่อร่างกายเรารับเชื้อเข้าไปแล้ว CD8 T cells เหล่านี้จะเป็นกองหน้าที่แข็งแรงและมีความทรงจำกับเชื้อโรคที่เคยเห็นตอนได้วัคซีนกระตุ้นก็จะออกมาขจัดเชื้อโรคและอาจทำให้เรารับเชื้อแต่ไม่มีอาการเลยก็ได้ โดยวัคซีนที่มีคุณสมบัติในการกระตุ้น CD8 memory T cells ที่ดีคือ mRNA vaccine และ Viral vector DNA ค่ะ ส่วน Sinovac ซึ่งใช้ตัวกระตุ้นภูมิเป็น Alum จะมีคุณสมบัติกระตุ้นการสร้าง antibody ได้ดี แต่ไม่ค่อยกระตุ้น CD8 memory T cells (อันนี้เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ Sinovac ป้องกันการติดเชื้อได้ไม่ค่อยดีค่ะ)

แล้ว Sinovac ช่วยระบบภูมิคุ้มกันเราตรงไหน

เมื่อเรารับเชื้อเข้ามาในร่างกาย ตัวเชื้อจะจับกับตัวรับบนผิวเซลล์ในทางเดินหายใจ แล้วหมุดเข้าไปในเซลล์ไปใช้อุปกรณ์ของใช้ทั้งหลายในเซลล์ของเราเพื่อเพิ่มจำนวนไวรัส และเมื่อไวรัสกินอยู่หลับนอนในเซลล์เราเรียบร้อยแล้วไวรัสก็ทำลายผนังเซลล์ทำให้เซลล์ตายและย้ายไปอยู่บ้านใหม่ เมื่อเซลล์ตายก็เหมือนกับบ้านพังต้องมีเม็ดเลือดขาวชนิดอื่นๆมาเก็บกินซากปรักหักพังรวมทั้งออกมารบกับไวรัสตัวร้ายที่ทำลายบ้านช่อง ดังนั้นการปล่อยให้ไวรัสเข้าเซลล์ได้ง่ายๆและเพิ่มจำนวนเร็วๆจะทำให้เกิดการอักเสบตามมาและการอักเสบที่มากๆจะนำไปสู่ระยะที่สองของการติดเชื้อ

2. ระยะที่สองของการติดเชื้อ

เมื่อเชื้อเพิ่มจำนวนมากขึ้นก็มีโอกาสลุกล้ำเข้าไปสู่ปอดและทำให้เกิดการอักเสบได้ โดยการดำเนินของโรคระยะที่สองจะอยู่ในช่วงปลายสัปดาห์แรกต่อกับสัปดาห์ที่สอง ในช่วงนี้ถ้าภูมิคุ้มกันของเราสามารถจัดการขจัดเชื้อโรคได้เร็วเราก็อาจไม่เกิดปอดอักเสบหรือเกิดเล็กน้อยและสามารถดีขึ้นได้
แต่ถ้าภูมิคุ้มกันเราคุมไวรัสไม่อยู่อะไรจะเกิดขึ้น จะเกิดการสู้รบกันระหว่างเม็ดเลือดขาวกับเชื้อโรค มีการใช้อาวุธ ทิ้งระเบิด (cytokine เป็นอาวุธของเม็ดลือดขาวที่ใช้สั่งการและทำลายไวรัส) ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า Cytokine storm เกิดขึ้น และเมื่อเกิดภาวะนี้แล้วก็ต้องมีการใช้ยาต้านอักเสบกลุ่ม steroid หรือยา biologics อื่นๆเพื่อหยุดการอักเสบ

ดังนั้น Protective immunity ที่ได้จาก Sinovac ก็จะมีส่วนช่วยให้ร่างกายสามารถจัดการขจัดไวรัสไปให้เร็วขึ้นและการอักเสบและการลุกลามไปที่ปอดเกิดลดลง ถึงเป็นที่มาของข้อมูลที่ Sinovac ช่วยลดอาการรุนแรง ลดการตายในผู้ป่วยติดเชื้อโควิดไงคะ

สำหรับข้อสังเกตของผู้ติดเชื้อโควิดว่าเราจะเริ่มมีอาการของปอดอักเสบร่วมไหม แนะนำว่าให้วัด oxygen ปลายนิ้วมือก่อนและหลังออกกำลังกายสัก 3 นาที ถ้าลดลงหลังออกกำลังกายคงต้องสงสัยว่าอาจมีอาการของปอดอักเสบร่วมด้วย

ทีนี้มาดูอาการของหมอก็จะเห็นว่าไม่ใช่ mild case ซะทีเดียวเพราะวันที่ 5 ของการติดเชื้อก็มีค่าเม็ดเลือดขาว lymphocyte ที่ต่ำ (จริงๆแล้วลดลงทั้งเม็ดเลือดแดง เกร็ดเลือดด้วย ถ้าเทียบกับผลการตรวจร่างกายเมื่อก่อนหน้านี้) มีค่าการอักเสบ CRP เพิ่มขึ้น มีตับอักเสบ และ CT chest พบว่ามีปอดอักเสบ 5% ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ค่อนข้างตกใจพอสมควรเพราะเรารู้เรื่องกลไกการเกิดโรคด้านภูมิคุ้มกันของโควิดค่อนข้างละเอียด กังวลว่าเราจะเดินหน้าไปเป็น cytokine storm ไหม ต้องได้ยา steroid ไหม

เมื่อมีปอดอักเสบหมอเลยได้ยาต้านไวรัส ซึ่งใช้เวลา 2 วันหลังได้ยาต้านไวรัสแล้วอาการก็ดีขึ้น ซึ่งหมอคิดว่าสาเหตุหนึ่งที่ดีขึ้นคงมีส่วนจากระบบภูมิคุ้มกันที่เคยได้รับการกระตุ้นด้วย Sinovac มาสองเข็ม ถึงแม้ว่าภูมิคุ้มกันจะตกและทำให้ติดเชื้อ แต่ memory cells ทั้งหลายก็คงจะพอมีให้เรียกกลับมาทำงานขจัดเชื้อโรคได้ทันในช่วงปลายสัปดาห์แรก และส่วนตัวไม่ได้มีโรคประจำตัวในกลุ่มเสี่ยง (นอกจากอยู่ในกลุ่มอายุที่ระดับ antibody ลดลงเร็ว) และเป็นคนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ (ตอนเม็ดเลือดขาวต่ำก็ออกกำลังกายในห้องพักกับลูกชาย)

ถึงแม้จะมีปริมาณเชื้อค่อนข้างมาก (ถ้าจำได้ Ct 18) ก็สามารถรอดกลับมาหายได้ด้วยการมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ Delta ที่แข็งแรงมากขึ้นค่ะ และการป่วยครั้งนี้ได้เข้าโครงการวิจัยของทางรามาธิบดีที่ทำการตรวจและติดตามผู้ป่วยโควิดด้วยค่ะ หวังว่าตัวเองจะไม่เกิด long term side effect ใดๆตามมา

สุดท้ายนี้อยากบอกทุกท่านว่าในเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้วัคซีนก็คงช่วยเราไม่ได้ 100% เราคงต้องให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของระบบภูมิคุ้มกันของเราเองให้ดี

ป.ล. หวังว่าจะเข้าใจการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันแบบง่ายๆที่เล่ามานี้นะคะ ไว้ครั้งหน้าจะมาเล่าหลักการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนแต่ละเทคโนโลยีและวิธีง่ายๆของการเพิ่มการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อการฉีดวัคซีนค่ะ

ที่มา : .khaosod