เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงคมนาคม และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกันพิจารณาถึงแนวทางการจัดส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนา โดยวันนี้ ผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้หารือเตรียมแผนรับผู้ป่วยโควิด ที่ต้องการกลับไปรักษาตัวที่บ้านแต่ละจังหวัด โดยได้จัดจัดขบวนรถไฟโดยสารด่วนพิเศษไว้ 14 โบกี้ รับผู้ป่วยจากกรุงเทพมหานคร ที่ลงทะเบียน และจองเตียงรักษา ผ่านระบบ สปสช. 1330 กลับไปรักษาตามภูมิลำเนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยผู้ป่วยที่ต้องการเดินทางต้องเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว และมีเอกสารยืนยันว่ามีโรงพยาบาลปลายทางรับรักษาแล้ว

โดยขบวนรถไฟโดยสารด่วนพิเศษรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิดขบวนแรก จะเริ่มนำส่งผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 64 จากสถานีจิตรลดา ปลายทางจังหวัดอุบลราชธานี รถออกเวลา 07.00 น. โดยขอให้ผู้ป่วยมาถึงสถานีไม่เกิน 06.00 น. เพื่อทำการคัดกรองก่อนขึ้นรถ โดยขบวนรถเที่ยวนี้ จะขนส่งผู้ป่วยจำนวน 1,489 คน แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ลงทะเบียนขอกลับไปรักษาตัวที่ จังหวัด นครราชสีมา 296 คน บุรีรัมย์ 203 คน ยโสธร 99 คน ศรีสะเกษ 303 คน สุรินทร์ 243 คน อำนาจเจริญ 51 คน และอุบลราชธานี 294 คน รวม 1,489 คน และในวันที่ 29 ก.ค. 64 จะนำส่งผู้ป่วย กรุงเทพฯ ปลายทางจังหวัดหนองคาย อีก 1,400 คน และวันที่ 30 ก.ค.64 นำส่งอีก 1,500 คน จากกรุงเทพฯ ปลายทางจังหวัดอุบลราชธานี รวมประมาณ 4,389 คน

ทั้งนี้ ทาง ศบค.ได้สั่งการให้จังหวัดต่างๆวางแผนประสานหน่วยงาน อาทิ สาธารณสุขจังหวัด, ขนส่งจังหวัด, หน่วยงานทหาร, ตำรวจ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จัดเตรียมยานพาหนะ อาหาร น้ำดื่ม สุขาเคลื่อนที่ ระบบป้องกันการแพร่เชื้อ โดยให้มารับตัวผู้ป่วยที่จะลงยังสถานีรถไฟต่างๆไปรักษาตามโรงพยาบาล, โรงพยาบาลสนาม หรือจุดพักคอยแต่ละอำเภอจัดไว้

นอกจากนี้ การรถไฟยังมีแผนที่จะใช้รถไฟขบวนพิเศษรับผู้ป่วย สีเขียวมาส่งกลับบ้านทุกจังหวัดตามสถานีจังหวัดจากกรุงเทพถึงปลายทาง โดยมีจุดจอดในจังหวัดดังนี้

อุบลราชธานี = สระบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี
หาดใหญ่ = เพชรบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง หาดใหญ่
เชียงใหม่ = ลพบุรี นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่
หนองคาย = สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย

ขอบคุณข้อมูล : มติชน