บ้านอาจไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนก็จริง แต่สำหรับคนที่อยากกลับบ้านแต่ไม่สามารถกลับได้ก็มีชีวิตที่เศร้าไม่ต่างกัน และชาวบางกลอยรู้สึกแบบนั้นมา 25 ปีแล้ว
ตั้งแต่รัฐไทยประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินของชาวปกาเกอะญอที่บางกลอยผู้อาศัยอยู่ในใจแผ่นดินมานานกว่าร้อยปีก็มีอันต้องเปลี่ยนไป แม้จะมีแผนจัดสรรให้ชาวบ้านลงมาทำกินที่บ้านโป่งลึก-บางกลอยล่าง ตั้งแต่ปี 2539 แต่จนถึงตอนนี้พื้นที่ดังกล่าวยังไม่สามารถทำการเกษตรตามแบบวิถีชีวิตชาวบ้านได้
แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่สร้างความหวาดกลัวให้ชาวบ้านเพื่อไม่ให้เกิดการขัดขืนต่อการย้ายพื้นที่อยู่อาศัย ทั้งการบังคับให้หายสาบสูญของบิลลี่ พอละจี นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งบ้านบางกลอย การใช้ยุทธการตะนาวศรีเผาทำลายบ้านเรือนของชาวบ้าน รวมถึงบ้านของปู่คออี้ มีมิ ผู้นำจิตวิญญาณชุมชุนบางกลอย แต่ท้ายที่สุดในปีที่ 25 ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งก็ตัดสินใจเดินกลับขึ้นไปที่ใจแผ่นดินอีกครั้งจนเกิดการจับกุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ชาวบางกลอยจึงต้องเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อจัดชุมนุมเรียกร้องสิทธิที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีกลุ่ม ‘ภาคีSaveบางกลอย’ ช่วยเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาลลงนามสัญญาเข้าช่วยเหลือ
ภาคีSaveบางกลอย ทำให้คนเมืองหันมาสนใจเรื่องสิทธิชาติพันธุ์ไม่น้อย และหนึ่งในคนที่ผลักดันให้ภาคีนี้เกิดขึ้นคือ กอล์ฟ–พชร คำชำนาญ เอ็นจีโอรุ่นใหม่ที่ทำงานด้านสิทธิชุมชนและชาติพันธุ์ในภาคเหนือ ถ้าใครได้ดูคลิปเหตุการณ์หน้าหอศิลป์ วันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา เขาคือคนที่แสดงเป็นชาวบ้านบางกลอยร่วมกับ บอย–ธัชพงศ์ แกดำ เพื่อจำลองสถานการณ์ในวันที่เจ้าหน้าที่อุทยานใช้ ‘ยุทธการป่าน้ำเพชร’ ล้อมจับชาวบ้านในข้อหาบุกรุกป่า พร้อมฝากขังเรือนจำ และโกนผมชาวบ้านเหมือนพวกเขาต้องคำพิพากษาแล้ว
ในวันนั้น กอล์ฟและบอยจึงโกนผมเพื่อแสดงให้คนเห็นปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมๆ กับสื่อสารว่าพวกเขาอยู่เคียงข้างชาวบ้านบางกลอย และสิ่งที่พวกเขาทำทั้งหมดนั่นเองที่ทำให้เรานัดคุยกับกอล์ฟในวันที่นายกฯ ลงนามช่วยเหลือชาวบางกลอย แต่กลายเป็นว่าหลังจากเราสนทนากันเสร็จไม่นาน นายกฯ ก็ตระบัดสัตย์ไม่ให้ชาวบ้านกลับไปอยู่ใจแผ่นดินอีก ทำให้กอล์ฟและเครือข่ายภาคีSaveบางกลอยต้องคอยลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อยู่ตลอดอีกแล้ว
และพวกเขาก็อยากให้เราคอยจับตาสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไปด้วยกัน
จิตวิญญาณของชาวบางกลอย
แม้กอล์ฟจะทำงานเป็นเอ็นจีโอในเชียงใหม่เป็นหลักก็จริง แต่เรื่องของชาวบางกลอยเป็นประเด็นที่คนทำงานด้านสังคมรับรู้ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนมานาน กอล์ฟบอกกับเราว่าวันที่เอ็นจีโอด้านชาติพันธุ์รู้ว่าชาวบ้านเดินกลับขึ้นไปที่ใจแผ่นดินอีกครั้ง ทุกคนจึงรับรู้ได้ถึงความกลัวว่าจะมีเรื่องใหญ่เกิดขึ้น เพราะด้วยข้อกฎหมายของพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติที่ผ่านร่างในช่วง คสช. ทำให้คนที่เข้าไปอาศัยในเขตอุทยานจะโดนโทษสูงถึง 4-20 ปี และปรับเงิน 400,000-2,000,000 บาท
เอ็นจีโอด้านชาติพันธุ์ไม่นิ่งนอนใจกับเรื่องนี้ กอล์ฟเองก็พยายามติดต่อคนที่ใกล้ชิดหรือชาวบ้านบางคนที่ไม่ได้ขึ้นไปเพื่อสอบถามข้อมูล เพราะข้างบนใจแผ่นดินไม่มีสัญญาณที่จะทำให้ติดต่อชาวบ้านที่ขึ้นไปได้โดยตรง
“ตอนนั้นพวกเราที่ทำงานอยู่ในสภาวะที่ ‘กูจะทำยังไงดีวะ’ เราไม่รู้ว่าชาวบ้านข้างบนเขาต้องการอะไร เพราะเขาขึ้นไปแล้ว และเราไม่ได้คุย มันก็เลยเป็นสภาวะที่ว่า สู้ได้กึ่งหนึ่ง เพราะถ้าเราออกตัวแรงมาก มันอาจจะไม่ตรงกับข้อเรียกร้องชาวบ้านหรือว่าสิ่งที่เขาต้องการ ช่วงเวลา 1 เดือนนั้นเราสื่อสารอะไรกันไม่ได้เลย ฉะนั้นการที่เราจะออกมาสื่อสารทางสังคมต้องระวังมาก”
ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงตั้งข้อสันนิษฐานจากสถานการณ์และข้อมูลที่มีอยู่เดิม เช่น ชาวบ้านขึ้นไปเพราะว่าเขาไม่มีข้าวกิน ข้อมูลจากการสอบถามจากชาวบ้าน พบว่าตลอด 25 ปีที่ถูกอพยพลงมา ใน 36 ครอบครัวที่กลับขึ้นไป ส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกินเลย ทั้งๆ ที่ปี 2539 อุทยานแห่งชาติฯ เคยให้คำมั่นว่าจะจัดที่ดินทำกินให้คนละ 7 ไร่ ที่อยู่อาศัย 3 งาน และถ้าชาวบ้านอยู่ไม่ได้ให้กลับขึ้นไปเหมือนเดิมได้ เพราะนี่คือการทดลองอยู่
“เราคิดแทนชาวบ้านอีกอย่างคือช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา พอเพาะปลูกไม่ได้ก็ต้องลงมารับจ้างหาเงินซื้อข้าว แต่พอไม่มีงานให้ทำพวกเขาก็เลยตัดสินใจกลับขึ้นไป เพราะไม่ว่ายังไงนั่นคือทางรอดเดียว หรืออาจจะเป็นทางที่ทำให้เขาตาย แต่อย่างน้อยก็ได้กลับไปตายที่บ้านเกิด”
แต่เมื่อได้ลงพื้นที่จริงในช่วงปลายเดือนมกราคม กอล์ฟได้คุยกับพะตีนอแอ๊ะ มีมิ ลูกชายของปู่คออี้ ผู้นำจิตวิญญาณของชุมชนบางกลอยซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว เขาได้พบว่ายังมีอีกข้อเท็จจริงอีกหนึ่งอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อนและทำให้เขาสะเทือนใจ
“ปู่คออี้เสียชีวิตปี 2561 ด้วยวัย 107 ปี ทำพิธีศพที่บางกลอยล่าง พะตีนอแอ๊ะบอกว่าการส่งดวงวิญญาณของพ่อยังไม่สมบูรณ์ เพราะว่าตามความเชื่อของกะเหรี่ยง การทำพิธีต้องใช้ข้าวที่มาจากไร่หมุนเวียนในแปลงที่พ่อเขาเคยปลูกให้กินตอนเด็กๆ ซึ่งอยู่ที่บางกลอยบนใจแผ่นดิน ดังนั้นเขาต้องกลับไปที่ไร่แปลงเดิมเพื่อแผ้วถางทำไร่หมุนเวียน เตรียมการสำหรับทำพิธีส่งศพพ่อ นี่คือเหตุผลของพะตีนอแอ๊ะ”
แสงดาวแห่งศรัทธา
วันที่เจ้าหน้าที่อุทยานเริ่มใช้ ‘ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร’ ด้วยการบังคับให้ชาวบ้านขึ้นเฮลิคอปเตอร์ลงมาจากใจแผ่นดิน กอล์ฟอยู่ในเหตุการณ์ด้วย เขาเข้าไปในฐานะคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อนที่รัฐมนตรีจะตระบัดสัตย์ต่อชาวบ้านบางกลอย และออกข่าวว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
อันที่จริงการทำงานในฐานะคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ จะไม่สามารถทำงานแบบน้ำเสียงแอ็กทิวิสต์ได้ทั้งหมด กอล์ฟรู้ดีว่าการสวมหมวกใบนี้ลงพื้นที่จะต้องรักษาสมดุลในการแก้ปัญหาด้วย แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่เห็นเหตุการณ์เพื่อนมนุษย์ถูกกระทำเขาก็อดที่จะรู้สึกไม่ได้
“เราปรี๊ดแตกเลย ไปยืนเถียงอยู่กับเจ้าหน้าที่อุทยาน เพราะเรารู้สึกว่าคุณทำแบบนี้ได้ยังไง ในขณะที่เรากำลังทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาอยู่ แล้วมาจับชาวบ้านไปทำไม เขากลัวอะไร มันมีข้อมูลอะไรที่ไม่อยากให้เอาออกไปเหรอถึงต้องเอายุทธการนี้มาเพื่อขัดขวางการปฏิบัติงาน” เขาย้อนนึกถึงความรู้สึกโมโหในตอนนั้น
“วันนั้นเราเครียดมาก น้ำตาจะไหลแล้ว เพราะยืนอยู่กับชาวบ้านที่ลานฮอ นั่งมองเฮลิคอปเตอร์บินไปทีละลำๆ โดยที่เราก็รู้ว่าไม่สามารถหยุดเฮลิคอปเตอร์ได้ เราเลยรู้สึกว่า ทำไมกูไร้ประโยชน์จัง คืออย่างน้อยเราควรจะทำได้ในแง่ของเจรจาให้หยุดไง”
บริเวณที่กอล์ฟยืนใกล้ที่จอดเฮลิคอปเตอร์อยู่ตรงโซนบ้านโป่งลึก ห่างจากบางกลอยเล็กน้อย อยู่ๆ เขาก็นึกอยากไปที่ศาลาพอละจีที่บ้านบางกลอย จึงบอกให้คนขับรถมอเตอร์ไซค์พาไปที่นั่น
“ตอนนั้นเราสิ้นหวัง ใจมันพังไปหมดแล้ว เราค่อนข้างเป็นคนที่ชาวบ้านไว้ใจนะ เพราะก่อนหน้านี้เขาไม่ไว้ใจใครง่ายๆ ฉะนั้นมันเป็นสิ่งที่รู้สึกว่าเราควรจะทำอะไรได้มากกว่านี้”
“ทีนี้พอถึงศาลาพอละจี ที่นั่นมีพี่คนหนึ่งชื่อพี่น้ำ แกเป็นนักดนตรี เอากีตาร์ขึ้นไป เราขึ้นไปบอกว่า ‘พี่น้ำ เล่นเพลง แสงดาวแห่งศรัทธา ให้เราฟังหน่อย ขอแค่เพลงเดียว เรานึกถึงเพลงนี้เป็นเพลงแรกและอยากร้อง’ เราร้องเพลงนี้ด้วยกันวันนั้นแล้วน้ำตาซึม”
แสงดาวแห่งศรัทธา คล้ายมาปลอบใจความสิ้นหวังของเขา ก่อนเขาจะกลับไปที่ลานจอดเฮลิคอปเตอร์อีกครั้ง เพื่อตั้งสติ หาทางช่วยเหลือชาวบ้าน และทำหน้าที่ต่อ
“ครั้งนี้เรานิ่ง พยายามคุมสติตัวเองแล้วก็นั่งดูเฮลิคอปเตอร์นั่นแหละ จนมีชาวบ้านทยอยลงมาทีละคนสองคนจนครบ 13 คน เราบันทึกทุกช่วงเวลาไว้เลยว่าใครทำอะไรตอนไหน เวลานี้บินขึ้นไปมีเจ้าหน้าที่กี่คน มีอาวุธไหม ใช้น้ำมันไปแล้วกี่ถัง เวลานี้ชาวบ้านลงมาเกิดอะไรขึ้นบ้าง ชาวบ้านข้างนอกที่กำลังสังเกตการณ์ กำลังเคลื่อนพลเข้าไปในจุดที่ชาวบ้านกำลังนำลงมา มีการนำกำลังเจ้าหน้าที่มาทำแนวรั้ว ไม่ให้ชาวบ้านเข้าไป มีการพูดจากับชาวบ้านแบบนี้ๆ เราต้องเก็บข้อมูลไว้”
มากไปกว่าความรู้สึกของกอล์ฟ คือความรู้สึกของชาวบ้านคนอื่นๆ ที่เกิดอาการขวัญเสีย และทำให้ทุกคนย้อนนึกถึงเหตุการณ์ ‘ยุทธการตะนาวศรี’ เผาบ้านเรือนชาวบ้านในปี 2554 แอ็กทิวิสต์รุ่นใหม่คนนี้รู้ดีว่าสถานการณ์กำลังทำให้ชาวบ้านหมดหวัง เขาคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้กำลังใจกันและกัน
“ตอนกลางคืนพวกเราก็มานั่งล้อมรอบกองไฟกันเหมือนทำพิธีปลุกเรียกขวัญให้กำลังใจชาวบ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราคนเมืองทำให้ พี่น้ำเล่นกีตาร์เพลงที่แต่งโดยพี่แก้วใส วงสามัญชน มันเป็นบรรยากาศที่พูดไม่ถูก” กอล์ฟพยายามทบทวนเหตุการณ์ทั้งหมด แม้ว่าจะไม่อาจบรรยายความรู้สึกออกมาเป็นคำพูดได้
#saveบางกลอย
สามารถไปอ่านต่อได้ที่ a day magzine
ขอบคุณภาพและที่มา a day magzine