ก.อุตฯ ยืนยันถังออกซิเจนทางการแพทย์ มีพอใช้ช่วยผู้ป่วยโควิด แนะระมัดระวังการใช้งานที่บ้าน อย่ากระแทก ห้ามใช้สารติดไฟกับอุปกรณ์ที่ใช้งานกับออกซิเจน
เมื่อวันที่ 29 ก.ค.64 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ติดตามสถานการณ์และรับทราบถึงข้อกังวลของประชาชน ถึงความเพียงพอของการผลิตก๊าซออกซิเจนทางการแพทย์ จึงสั่งการให้ตรวจสอบและประเมินภาพรวมความต้องการ (Demand) และกำลังการผลิต (Supply) ซึ่งรมว.อุตสาหกรรม ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม เชิญผู้ประกอบการรายใหญ่ของประเทศหารือด้านกำลังการผลิต เมื่อวันที่ 19 ก.ค. และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดประชุมประเมินความต้องการตั้งแต่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา
โดยกลุ่มผู้ผลิตก๊าซออกซิเจนเอกชนทั้ง 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มก๊าซอุตสาหกรรมจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมก๊าซอุตสาหกรรมสยาม โรงงานผู้บรรจุก๊าซ และผู้ผลิตภาชนะบรรจุก๊าซ ยืนยันว่าศักยภาพการผลิตของโรงงาน ยังสามารถรองรับความต้องการของประชาชนได้อย่างแน่นอน
นายอนุชา กล่าวต่อว่า กระทรวงอุตสาหกรรมยังรายงานภาพรวมกำลังการผลิตทั้งประเทศอยู่ที่ 1,860 ตันต่อวัน จาก 15 โรงงานในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชลบุรี ระยอง สงขลา ลำพูน และเชียงใหม่ และปลายเดือนสิงหาคมนี้จะมีเพิ่มอีก 1 แห่งที่จังหวัดระยอง โดยจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 150 ตันต่อวัน
หากกรณีฉุกเฉินยังสามารถเพิ่มกำลังการผลิตออกซิเจนได้ถึง 2,200 ตันต่อวัน ขณะที่ปริมาณการใช้ก๊าซออกซิเจนทั้งทางการแพทย์และอุตสาหกรรมปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1,260 ตันต่อวัน แบ่งเป็นปริมาณความต้องการออกซิเจนทางการแพทย์ ประมาณ 400-600 ตัน/วัน และความต้องการก๊าซออกซิเจนในภาคอุตสาหกรรม ประมาณ 660 ตัน/วัน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนกรณีประชาชนบางส่วนที่จัดหาและเก็บท่อก๊าซออกซิเจนไว้ใช้ที่บ้าน ขอให้จัดเก็บอย่างระมัดระวัง เนื่องจากท่อก๊าซออกซิเจนเป็นท่อที่มีความดันสูง หากจัดเก็บหรือใช้งานอย่างผิดวิธีอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ กระทรวงสาธารณสุขยังให้คำแนะนำไว้ อาทิ ขณะเคลื่อนย้ายท่อก๊าซออกซิเจนต้องทำด้วยความระมัดระวัง คือไม่ให้กระเทือน กระแทก หรือโยนท่อ ห้ามใช้สารหล่อลื่น น้ำมันหรือสารติดไฟกับอุปกรณ์ที่ใช้งานกับออกซิเจนเป็นอันขาด
การติดตั้งชุดอุปกรณ์ต่างๆ เข้ากับท่อบรรจุก๊าซออกซิเจน ต้องขันยึดให้แน่น และสถานที่จัดเก็บต้องเป็นที่แห้ง มีการถ่ายเทของอากาศได้ดีและมีอุณหภูมิสูงสุดไม่เกิน 50 องศาเซลเซียส และห้ามเก็บท่อบรรจุก๊าซออกซิเจนไว้รวมกับวัสดุ หรือก๊าซอื่นๆ ที่ติดไฟได้ง่าย
ที่มา: khaosod