“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เผย 3 ประเด็นสำคัญ จี้ แจกฟรี “ชุดตรวจโควิด” ให้กับประชาชน ระบุ “เวลามีค่า” เชื้อโรคไม่รอวัคซีน ไม่รอเตียง ไม่รอยา และเราต้องตามให้ทัน

วันนี้ (3 ส.ค.) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เขียนข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด โดยระบุว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเลยว่ามีคนรอบตัวเรา คนในชุมชน ติดโควิดกันเยอะมาก หลายๆ คนติดทั้งๆ ที่ระวังตัวกันเต็มที่แล้ว และไม่รู้ตัวเลยว่าติดมาจากไหน แสดงว่าตัวเดลตานี่มันสามารถแพร่กระจายได้เร็วมาก สามารถติดต่อได้ตั้งแต่สองวันก่อนมีอาการ ดังนั้นกว่าจะรู้ตัวคือมีอาการ ก็แพร่เชื้อให้คนอื่นไปแล้ว จากการพูดคุยกับคุณหมอหน้างาน และทีมงานชุมชนในกลุ่มเพื่อนชัชชาติ มีประเด็นที่สำคัญสามเรื่อง

ชัชชาติ กล่าวต่อว่า การติดกันภายในครอบครัวมีเป็นจำนวนมาก คือหลายๆ กรณีที่พบคือติดกันทั้งบ้าน ดังนั้นการป้องกันตัวในบ้านก็เป็นเรื่องจำเป็น คนที่ออกไปนอกบ้านต้องคิดไว้ก่อนว่ามีโอกาสติดโควิดมาโดยไม่รู้ตัว ถ้าเป็นไปได้ใส่หน้ากากอนามัยในบ้าน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว ทำความสะอาดพื้นที่เสี่ยงในบ้านอย่างสม่ำเสมอ ห้ามประมาทแม้กับคนในครอบครัว

การใช้ชุด Antigen Test Kit (ATK) ช่วยทำให้เรารู้ข้อมูลของผู้ติดเชื้อได้เร็วขึ้น และเป็นประโยชน์มาก แต่พบว่าราคาชุดตรวจในประเทศไทยยังแพงกว่าราคาที่ขายในต่างประเทศพอสมควร ดังนั้นควรมีการควบคุมราคาอย่างจริงจังไม่ให้เอาเปรียบประชาชนในยามยากลำบาก และรัฐควรแจกชุด ATK ฟรีให้กับประชาชนในกลุ่มเสี่ยง เหมือนรัฐบาลในหลายๆ ประเทศทำอยู่

การกักตัวที่บ้าน (Home Isolation: HI) เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาที่พบคือ มีหลายรายที่ลงทะเบียนแล้วยังไม่มีการติดต่อ ประเมินอาการ และส่งยาให้ ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือการได้รับยาเร็วก่อนที่เชื้อจะลงปอด เพราะจะทำให้ผู้ป่วยเขียวมีโอกาสหายได้ โดยไม่กลายเป็นผู้ป่วยเหลืองหรือแดง ซึ่งกำลังเป็นปัญหาสำคัญเรื่องเตียงไม่พอ

ทีมเพื่อนชัชชาติได้ไปร่วมกับกลุ่มคลองเตยดีจังในชุมชนคลองเตยในการพัฒนาระบบชื่อ home.care ขึ้นจากกลุ่มนวัตกร Agnos Health เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ กลุ่มหมอพยาบาลอาสา แกนนำในชุมชนที่ดูแลผู้ป่วยโควิด ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้านได้รับการประเมินจากแพทย์ได้เร็วขึ้น ระบบเริ่มใช้งานมาเมื่อ 3 สัปดาห์ที่แล้ว และกำลังค่อยๆ ขยายความสามารถในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องการลงทะเบียน การหาสถานพยาบาลมาร่วมโครงการ และการจัดส่งยา

ซึ่งการบริหารจัดการเรื่อง Home Isolation เป็นเรื่องที่ต้องรีบจัดการทะลวงคอขวดที่กล่าวมาโดยด่วน การใช้ระบบอาสาสมัครอย่างเดียวไม่น่าจะพอ ถ้าต้องจ้างคนหรือภาคเอกชนมาช่วยก็ต้องรีบดำเนินการ “เวลามีค่า เชื้อโรคไม่รอวัคซีน ไม่รอเตียง ไม่รอยา เราต้องตามให้ทัน” ชัชชาติ กล่าวปิดท้าย

ที่มา : khaosod