“ความเหงาฆ่าคนได้” ไม่ใช่ประโยคที่พูดกันขำๆ แต่มีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าเป็นความจริง

ความเหงาจึงกลายเป็นปัญหาด้านสาธารณสุข เพราะทำให้ความดันโลหิตสูง ระดับภูมิคุ้มกันต่ำลง เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดรวมทั้งโรคซึมเศร้า วิธีป้องกันและเยียวยาจึงไม่ใช่การออกกำลังกาย แต่เป็นการรักษาความสัมพันธ์กับครอบครัวและเพื่อน ทั้งนี้ หลายคนไม่คิดว่าตัวเองกำลังเหงา แต่ร่างกายเราก็ส่งสัญญาณบางอย่างออกมาถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

1) รู้สึกเหนื่อยล้าเป็นประจำ – ความเหงาทำให้คนเราหลับไม่สนิท หรือหลับๆ ตื่นๆ และแม้ว่าคุณจะบอกว่าหลับดีทั้งคืน แต่ความรู้สึกเหนื่อยเหมือนไม่ได้นอนถือเป็นสัญญาณอันตราย

2) สนใจของนอกกายอย่างมาก – เรียกอีกอย่างว่า ช้อปกระจาย ความเหงาเป็นตัวขับเคลื่อนให้คนออกไปช้อปปิ้งและมีแนวโน้มจะซื้อมากกว่าปกติ

3) อาบน้ำร้อน แถมอาบนาน – สะท้อนความเชื่อมโยงของอุณหภูมิกับความรู้สึกอบอุ่น โดยเฉพาะเมื่อผู้คนรู้สึกว่าตัวเองเหงา พวกเขาจะหาสิ่งทดแทน “ความหนาวเหน็บ” ในใจ ด้วยการทำให้ร่างกายอบอุ่น เช่น การอาบน้ำอุ่น

4) หยุดดูทีวีไม่ได้ – การดูหนังหรือซีรีย์แบบมาราธอน เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าคนๆ นั้นทั้งเหงา ซึมเศร้า และควบคุมตัวเองไม่ได้

5) หงุดหงิดได้แม้แต่เรื่องเล็กๆ – ถ้ารู้สึกว่าตัวเองเครียดกว่าปกติ นั่นอาจเพราะความเหงา เพราะร่างกายได้รับผลกระทบโดยตรงจากความเหงา ทำให้มีการปล่อยฮอร์โมนแห่งความเครียดออกมามากกว่าปกติ

6) ใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากกว่า 2 ชม. ต่อวัน – จะมี “สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม” (Social Isolation) อยู่สูง ทว่าการปฏิสัมพันธ์ในโลกออนไลน์ ได้แทนที่การปฏิสัมพันธ์ในโลกออฟไลน์

7) คุณมีแต่เพื่อนเหงาๆ – พบว่าความเหงา “แพร่กระจาย” ได้เหมือนโรคระบาด ถ้าคุณมีเพื่อนที่รู้สึกโดดเดี่ยว คุณก็จะได้รับรู้ถึงความรู้สึกด้านลบจากความเหงาและโดดเดี่ยวนั้นเหมือนกัน

8) น้ำหนักขึ้น – เพราะมันทำให้เรากินมากกว่าปกติซึ่งเป็นการเติมเต็มความรู้สึกแบบหนึ่ง

9) รู้สึกเหมือนเป็นหวัด – ความเหงาทำให้ระดับภูมิคุ้มกันลดต่ำลงจนร่างกายอ่อนไหวกับเชื้อโรคและเกิดความผิดปกติต่างๆ ง่ายขึ้น

ที่มาจากเว็บไซต์ : https://www.healthaddict.com/