ทีมนักวิจัยจากหลายสถาบันการแพทย์ของสหราชอาณาจักร เผยผลการศึกษาล่าสุดในวารสาร New England Journal of Medicine (NEJM) โดยชี้ว่าการเกิดลิ่มเลือดซึ่งเป็นผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก สามารถก่อความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้เกิดอาการเสียชีวิตได้สูง แม้แต่ในคนอายุน้อยที่มีสุขภาพแข็งแรงและไม่มีโรคประจำตัวมาก่อน
มีการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลจากพลเมืองสหราชอาณาจักรที่เกิดลิ่มเลือด 220 ราย หลังได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรกไปแล้วไม่เกิน 30 วัน โดยมีการติดตามเก็บข้อมูลในโรงพยาบาลต่าง ๆ ระหว่างวันที่ 22 มี.ค. – 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ผลวิจัยพบว่าในหมู่ผู้รับวัคซีนที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี จะมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดได้ราว 1 ใน 50,000 คน ซึ่งนับว่าเป็นอัตราการเกิดผลข้างเคียงที่น้อยมาก อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีลิ่มเลือดตามลักษณะของกลุ่มอาการ VITT หรือภาวะเลือดออกง่ายจากเกล็ดเลือดต่ำและลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดนั้น ได้เสียชีวิตไปราว 23% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด
ในกรณีของผู้ที่มีกลุ่มอาการ VITT อัตราการตายจะพุ่งสูงขึ้นไปถึง 73% หากมีปริมาณเกล็ดเลือดต่ำมาก และมีภาวะเลือดออกในสมองร่วมด้วย
ศาสตราจารย์ เบเวอร์ลีย์ ฮันท์ หนึ่งในทีมผู้วิจัยจากคิงส์คอลเลจลอนดอน (KCL) บอกว่ากลุ่มอาการที่เป็นผลข้างเคียงของวัคซีนดังกล่าวสามารถจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษาถึง 50% ไม่มีโรคประจำตัวหรือประวัติของอาการเจ็บป่วยที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับการเกิดลิ่มเลือดมาก่อน
ทีมผู้วิจัยระบุว่ากลุ่มอาการ VITT ยังเป็นผลข้างเคียงที่พบได้แต่ในหมู่ผู้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเท่านั้น แม้จะเคยมีรายงานว่าพบการเกิดลิ่มเลือดในกลุ่มผู้รับวัคซีนของไฟเซอร์ด้วยเพียงไม่กี่ราย แต่อาการที่พบนั้นยังถือว่าไม่เข้าข่ายกลุ่มอาการ VITT ที่ผู้วิจัยทำการศึกษาแต่อย่างใด
เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมว่าด้วยการให้วัคซีนและสร้างภูมิคุ้มกัน (JCVI) ของสหราชอาณาจักร ได้แนะนำให้เสนอวัคซีนทางเลือกอื่น ๆ นอกเหนือจากแอสตร้าเซนเนก้าแก่คนอายุต่ำกว่า 40 ปี หลังมีรายงานเรื่องการเกิดลิ่มเลือด ซึ่งแม้จะพบได้น้อยแต่ก็เกิดขึ้นกับคนวัยหนุ่มสาวเป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางรายมองว่าสามารถจะให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปีได้ ในสถานการณ์ที่อัตราการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงพุ่งสูง
ที่มา khaosod