ยิ่งลักษณ์ จี้ภาครัฐแก้ปัญหาลำไย-พืชผลตกต่ำ แนะอุดหนุนราคา-ใช้เกษตรโซนนิ่ง ชวนภาคเอกชน บริษัทต่างๆ ที่ยังพอมีกำลังซื้อช่วยอุดหนุนลำไย-พืชผลที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ
วันที่ 13 ส.ค.64 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กในเพจ Yingluck Shinawatra ถึงปัญหาลำไยและผลกระทบที่เกษตรกรต้องเผชิญว่า
วันนี้ไปซื้อลำไยจากซูเปอร์มาร์เก็ตที่ดูไบ ทำให้คิดถึงเมืองไทยว่า แม้ปีนี้เป็นปีที่ประเทศไทยอากาศดี ช่วงต้นปีอากาศเย็น ส่งผลให้ลำไยมีผลผลิตเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนถึง 20% ซึ่งลำไยเป็นผลไม้ส่งออกที่มีความต้องการสูง แต่ปรากฏว่าช่องทางการจำหน่ายยังจำกัด เพราะผลกระทบของโรคระบาด ทำให้ดิฉันเป็นห่วงชีวิตพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะภาคเหนือที่ปลูกลำไยกันเป็นจำนวนมากที่ต้องลำบากเพราะขาดทุนจากผลผลิตที่ล้นตลาด
ส่วนกรณีล่าสุดที่จีนสั่งระงับการนำเข้าลำไยจากประเทศไทยของหลายบริษัทนั้น ดิฉันเห็นว่ากระทรวงพาณิชย์ต้องเจรจาให้ทางการจีนผ่อนปรนให้กับไทยบ้าง เพราะจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของลำไยไทยและเป็นการสั่งอย่างกะทันหัน ซึ่งขณะนี้ลำไยอยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยวและเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก ต้องส่งผลกระทบอย่างแน่นอน ในมุมกลับกันไทยก็รับผลไม้จีนเข้ามาจำหน่ายในประเทศเป็นจำนวนมากเช่นกัน น่าจะสามารถเจรจาผ่อนปรนกันได้บ้างค่ะ
อย่างไรก็ตามดิฉันเรียกร้องให้ภาครัฐเข้าไปแก้ปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำอย่างจริงจังและยั่งยืนค่ะ เพราะแม้จะทำโครงการแลกเปลี่ยนผลิตผลการเกษตรระหว่างจังหวัด แต่ทำได้จำนวนจำกัด ไม่สามารถช่วยเกษตรกรในวงกว้างได้ รัฐอาจอุดหนุนราคาบ้าง แต่ต้องดูแลแก้ปัญหาองค์รวมในเรื่องผลผลิตลำไยล้นตลาดและราคาตกต่ำ ด้วยการขอความร่วมมือภาคเอกชนให้ช่วยซื้อลำไยสด หรือโรงงานรับซื้อลำไย เพื่ออบแห้งและบรรจุลำไยกระป๋องเพื่อถนอมอาหาร รอส่งออกต่างประเทศ
ไม่เพียงแค่ผลิตผลลำไยเท่านั้น แต่รัฐบาลต้องดูแลพืชผลเกษตรทั้งหมด และควรเตรียมมาตรการรองรับ เพื่อจะได้ไม่เจอวังวนแบบนี้ทุกปี รวมทั้งต้องประสานกับทั้งโรงงานแปรรูป ไปจนถึงสหกรณ์ ตลาดกลาง ห้างโมเดิร์นเทรดในการช่วยกระจายสินค้าอย่างเป็นระบบค่ะ ภาครัฐต้องกำหนดกลยุทธ์ที่สร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานของสินค้าเกษตร มีการรวบรวมข้อมูลสินค้าเกษตรและผลไม้ที่จะออกสู่ตลาดตลอดปีเพื่อบริหารจัดการไม่ให้เกิดปัญหาล้นตลาดและราคาตกต่ำ
ในระยะยาวแล้ว ดิฉันเสนอให้ลองทบทวนแนวทางเกษตรโซนนิ่งที่ดิฉันได้เริ่มไว้สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะจะเป็นการจัดระเบียบพื้นที่การเกษตรที่เหมาะสมให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยึดหลักการตลาดนำการผลิตพร้อมกับยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรไทย ลดต้นทุนการเพาะปลูก เพราะปัจจัยการผลิตถูกใช้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับความต้องการของพืชแต่ละชนิดค่ะ
อยากขอเชิญชวนภาคเอกชน บริษัทต่างๆ หรือใครที่ยังพอมีกำลังซื้อช่วยอุดหนุนลำไยและพืชผลทางการเกษตรอื่นที่กำลังประสบปัญหาราคาตกต่ำเพื่อช่วยกันประคับประคองให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกันนะคะ
ที่มา khaosod