คร.เผยโควิดไทยยังสูงแต่ทรงตัว ชี้ยอดเสียชีวิตสะสม 7,552 ราย คิดเป็น 0.83% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 68%
เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค (คร.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 ผ่านระบบออนไลน์ ว่า วันนี้ประเทศไทยติดเชื้อเพิ่ม 21,882 ราย หายกลับบ้าน 21,106 ราย นอกจากการติดตามติดเชื้อใหม่ ยังต้องพิจารณาผู้ป่วยที่มีอาการหนัก เพราะการติดเชื้อจำนวนมาก แต่คนที่มีอาการมากจนถึงขั้นเข้าไอซียูและเสียชีวิตจะบอกแนวโน้มสำคัญ โดยประเทศไทยมีผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบ 5,615 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,172 ราย อยู่ในกทม. 362 ราย
ส่วนตัวเลขเสียชีวิตวันนี้ 209 ราย อยู่ในกทม. 83 ราย ขณะที่ 5 จังหวัดปริมณฑล 58 ราย ซึ่ง 2 ส่วนนี้รวมกัน 141 ราย เป็นตัวเลขส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 66% อายุน้อยกว่า 60 ปีมีโรคเรื้อรัง 23% รวม 2 กลุ่มนี้คือ 89% เป็นเหตุผลทำไมต้องย้ำให้กลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีน ซึ่งข้อมูลจากกองระบาดวิทยาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. – 14 ส.ค.2564 พบว่ามีผู้เสียชีวิต 6,758 ราย กลุ่มอายุ 60-69 ปีมี 24%, อายุ 70 ปีขึ้นไป 42% รวมอายุ 60 ปีขึ้นไปพบถึง 68% สำหรับภาพรวมไทยเสียชีวิตสะสม 7,552 ราย คิดเป็น 0.83% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่พบ 1%
“ภาพรวมสถานการณ์ไทย การติดเชื้อยังรายงานอยู่ในระดับสูงและคงตัวอยู่ เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งเกิดจากมาตรการที่เข้มข้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ส.ค. พื้นที่ต่างจังหวัด เดิมจะน้อยกว่ากทม.และปริมณฑล และช่วงหลังการกระจายออกไปเยอะ จึงเป็นส่วนที่เพิ่มขึ้นมาก”
นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกติดเชื้อสะสม 207,446,049 ราย เสียชีวิต 4,365,961 ราย ในหลายประเทศที่มีการฉีดวัคซีนค่อนข้างกว้างขวาง ก็ยังมีการติดเชื้อรายใหม่ค่อนข้างมาก แต่ผลจากวัคซีนทำให้อาการรุนแรงและเสียชีวิตค่อนข้างน้อยลง ทั้งนี้ อัตราการป่วยและเสียชีวิตพบว่า สหรัฐอเมริกา พบอัตราการป่วยสูงสุดถึง 112,362 รายต่อประชากรล้านคน อังกฤษ 91,397 รายต่อประชากรล้านคน ส่วนไทย 12,960 รายต่อประชากรล้านคน ส่วนอัตราเสียชีวิตเป็นอังกฤษสูงสุด 1,917 รายต่อประชากรล้านคน สหรัฐ 1,913 รายต่อประชากรล้านคน ไทยอยู่ที่ 108 รายต่อประชากรล้านคน
เมื่อถามว่าผู้ป่วยที่รักษาโควิด 10 วัน แต่กลับมาในชุมชนจะเสี่ยงหรือไม่ เนื่องจากคนในชุมชนยังกังวล นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยมาจากคณะผู้เชี่ยวชาญทุกฝ่าย ยังยึดครบ 14 วันนับจากวันเริ่มป่วยวันแรก ดังนั้น หากเริ่มป่วยไปรักษาใน รพ.14 วัน แต่อาการดีขึ้นประมาณ 10 วันก็สามารถกลับมารักษาต่อที่บ้านจนครบ 14 วันได้ แต่เมื่อครบ 14 วันก็ยังต้องสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ เหมือนเช่นเดิม ส่วนที่ระบุว่าต้องตรวจให้เจอว่ามีเชื้อหรือไม่ แนวทางชัดเจนว่าไม่ได้แนะนำว่าต้องตรวจ เพราะการตรวจอาจเจอซากเชื้อปริมาณน้อยๆ ได้ สิ่งสำคัญต้องยึดมาตรการนิวนอร์มัลเช่นเดิม
ที่มา khaosod