ฝ่ายค้าน ยื่นญัตติซักฟอก บิ๊กตู่-5 รมต. ลั่นหมดความชอบธรรมบริหารประเทศแล้ว ฝากส.ส.รัฐบาลฟังความเดือดร้อนของประชาชนก่อนตัดสินใจโหวต

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2564 ที่รัฐสภา พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายประเสริฐ จันทรรงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อชาติ นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย และนายวิรัตน์ วรศสิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรรีรวมไทย ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร

โดยนายสมพงษ์ กล่าวว่า เราเห็นความบกพร่องของรัฐบาลในการบริหารงานตลอดปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องโควิด-19 และเรื่องเศรษฐกิจ จึงจำเป็นต้องยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จึงขอให้ประธานสภา ได้บรรจุญัตติเข้าสู่การประชุมสภา

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้เรากำหนดอภิปรายรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ประกอบด้วย 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม

2.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข 3.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม 4.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์

5.นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และ 6.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยได้พิจารณาอย่างถ่องแท้ และปรึกษาหารือกันแล้ว แม้จะมีส.ส.เสนอรายชื่อบุคคลมามาก และได้นำรายชื่อมาตรวจสอบ สุดท้ายจบที่ 6 ท่านนี้

ด้านนายชวน กล่าวว่า เมื่อฝ่ายค้านยื่นญัตติมาแล้ว เจ้าหน้าที่จะตรจสอบรายชื่อ และข้อบังคับ โดยบรรจุระเบียบวาระเป็นเรื่องด่วน แต่ต้องแจ้งให้นายกฯทราบเพื่อกำหนดช่วงเวลา ครั้งนี้เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 3 ซึ่ง 2 ครั้งแรกเสนอญัตติในช่วงเดือนม.ค. ซึ่งเป็นสมัยประชุมที่ 2 แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เสนอญัตติในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นสมัยประชุมแรก โดยตามกฎหมายแล้ว จะยุบสภาช่วงนี้ไม่ได้ นอกจากจะมีการถอนญัตติออกไป

จากนั้นนายสมพงษ์ ให้สัมภาษณ์ถึงหลักเณฑ์การพิจารณาตัวบุคคลที่ถูกอภิปรายว่า ที่ประชุมมีการเสนอชื่อคนมาพอสมควร แต่เราสอบถามกันถึงเรื่องที่จะอภิปราย เราตั้งเป้าไว้ที่เรื่องเศรษฐกิจ และการทุจริต เรามองว่ารัฐมนตรีที่รับผิดชอบโดยตรง ใหญ่สุดคือ ตัวนายกฯ โดยแต่ละบุคคลที่เราใส่ชื่อลงไปถือเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงในหน่วยงานนั้นๆ และในวันนี้จะประชุมกับประธานสภา เกี่ยวกับวันและเวลาอภิปราย เบื้องต้นเราคิดว่า อยากได้เวลาเหมือนเดิมประมาณ 3 วันบวกๆ

เมื่อถามว่าหลังการอภิปรายจะรวบรวมเอกสาร และหลักฐานต่างๆไปยื่นร้องต่อองค์กรอิสระ หรือร้องศาลเพื่อสอบต่อไปหรือไม่ นายสมพงษ์ กล่าวว่า จะทำแบบทุกครั้ง เชื่อว่ามีแน่ เมื่อถามว่าจะเสนอชื่อนายกฯมาแทนที่เลยหรือไม่ นายสมพงษ์ กล่าวว่า คงไม่ ถ้ารัฐธรรมนูญเป็นเหมือนทุกครั้งคงจะเสนอ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ พวกตนคงไม่เสนอ

ต่อข้อถามว่า ที่ผ่านมาการอภิปรายไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ นายสมพงษ์ กล่าวว่า สิ่งที่อภิปรายครั้งนี้ เรามั่นใจว่าหลักฐานต่างๆ มีความครบถ้วน ส่วนจะเอาชนะรัฐบาลในสภาได้หรือไม่นั้น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลลองคิดว่า นอกจากฟังส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายแล้ว ต้องฟังความเดือดร้อนของประชาชนด้วย ขอให้พิจารณาเรื่องนี้ และฝากประชาชนที่เลือกส.ส.ว่า บุคคลที่เลือกไป เห็นแก่ความเดือดร้อนของประชาชนที่กำลังล้มตายหรือไม่ ส.ส.รัฐบาลต้องตัดสินใจเพื่อประชาชน เพราะไม่มีอะไรสุดๆกว่านี้อีกแล้ว

ด้านนายพิธา กล่าวถึงกรณีก่อนหน้านี้มีชื่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เหตุใดภายหลังจึงไม่มีชื่อแล้วว่า เราต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ของฝ่ายค้านที่มีมติให้โฟกัสเฉพาะ 6 คน ดังนั้น เพื่อรักษาบรรยากาศการทำงานร่วมกันของพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่ไม่ได้มีปัญหาร่วมกันในการทำงาน แม้จะมีความเห็นต่างกัน เราตั้งใจอภิปรายเพื่อใช้กลไกสภาแก้วิกฤต ลดความขัดแย้ง ถอดสลักชื่อพล.อ.ประยุทธ์ ให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

“การอภิปรายครั้งนี้แตกต่างจากทุกครั้ง เพราะความเดือดร้อนของประชาชนไปในวงกว้าง ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากพอสมควร มีคนส่งข้อมูลมาให้พรรคไม่ขาดสาย และบรรยายกาศนอกสภาและในสภาขณะนี้ตรงกันว่า ความชอบธรรมของพล.อ.ประยุทธ์ ไม่เหลือแล้ว ต้องให้กลไกในสภาช่วยสร้างแรงสั่นสะเทือนอีกครั้ง”นายพิธา กล่าว

ที่มา khaosod