ชาวไทยภูเขาบนพื้นที่สูงของไทยนิยมปลูกข้าวเพื่อเป็นอาหารหลักสำหรับบริโภค ซึ่งทุกชุมชนปลูกข้าวเพื่อยังชีพสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร โดยเฉพาะเกษตรกรชนเผ่ากะเหรี่ยงที่ทำนาเป็นอาชีพหลัก บนพื้นที่สูงมีพื้นที่ปลูกข้าวถึงร้อยละ 60 ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด แต่ก็ยังประสบปัญหาข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภคในบางชุมชนเนื่องจากผลผลิตต่อพื้นที่ต่ำ และพันธุ์ข้าวที่ปลูกบนพื้นที่สูงส่วนใหญ่คือพันธุ์ท้องถิ่นหรือพันธุ์พื้นเมือง (Local variety)

ชุมชนบนพื้นที่สูงมีภูมิปัญญาการปลูกพันธุ์ข้าวที่หลากหลายพันธุ์ เนื่องจากแต่ละชุมชนมีพันธุ์ข้าวในชุมชนมากกว่า 1 พันธุ์ เกษตรกรจึงนิยมปลูกข้าวอย่างน้อย 2 พันธุ์ต่อฤดูกาลในพื้นที่แปลงติดกัน หรือมีการปลูกข้าวหลายพันธุ์ในแปลงเดียวกัน ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะช่วยลดความเสี่ยงจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ กล่าวคือหากข้าวพันธุ์ใดพันธุ์หนึ่งเสียหายจากภัยธรรมชาติก็ยังคงเหลือข้าวพันธุ์ที่อยู่รอดและสามารถให้ผลผลิตสำหรับบริโภค แต่การปลูกข้าวที่หลากหลายพันธุ์ต่อเนื่องเป็นเวลายาวโดยไม่มีวิธีการคัดเลือกและเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ถูกต้องจะทำให้ข้าวเกิดการปนพันธุ์และกลายพันธุ์ ซึ่งจากการสำรวจของนักวิจัยพบว่า ลักษณะที่แสดงออกนั้นแตกต่างจากข้าวพันธุ์ปลูก อาทิ ลักษณะแตกต่างของทรงกอ สีกาบใบ วันโผล่รวง เมล็ดข้าวในแปลงสุก-แก่ไม่พร้อมกันทำให้เมล็ดข้าวร่วงหล่นก่อนระยะเก็บเกี่ยวหรือติดเขียว เมื่อเก็บเกี่ยวจึงได้ผลผลิตข้าวต่อพื้นที่ต่ำ ส่งผลให้อายุการเก็บรักษาข้าวสั้นลง และคุณภาพการหุงต้มลดลงตามไปด้วย

วิธีการปลูกข้าวต้นเดียว เป็นวิธีการหนึ่งที่นำมาประยุกต์ใช้สำหรับผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวท้องถิ่นบนพื้นที่สูงให้บริสุทธิ์ ตรงตามพันธุ์ ลดการปนพันธุ์ของข้าว เกษตรกรสามารถนำวิธีการไปปฏิบัติได้ง่าย ไม่ยุ่งยากหรือขัดแย้งกับวิถีชีวิตของเกษตรกร และเกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพเพื่อใช้เองได้

โดยมีวิธีการ คือ การปักดำข้าว 1 ต้นต่อ 1 หลุม ระยะปักดำ 30 x 30 เซนติเมตร ซึ่งจะทำให้ได้รวงข้าวทุกรวงที่มีลักษณะเหมือนกันหมด เนื่องจากเจริญเติบโตมาจากเมล็ดข้าวเพียง 1 เมล็ด หากต้นข้าวนั้นๆ มีลักษณะแตกต่างจากข้าวพันธุ์ปลูก แสดงว่าข้าวต้นนั้นคือต้นพันธุ์ปนก็สามารถแยกกำจัดทั้งกอออกจากแปลงได้ง่าย เมื่อเทียบกับการปักดำกล้าหลายต้นต่อหลุมจะไม่สามารถแยกได้ว่าข้าวแต่ละรวงมาจากต้นกล้าหรือข้าวเมล็ดใด การแยกหรือกำจัดลักษณะพันธุ์ปนต้องแยกทีละรวงซึ่งล่าช้า

ข้าวนาน้ำน้อย คือ การปลูกข้าวนาโดยควบคุมระดับน้ำในแปลงนาแบบน้ำแห้งสลับน้ำขังในระยะข้าวแตกกอ ลดการขังน้ำในแปลงนาไว้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้น้ำลงได้ 35-56% เมื่อเทียบกับนาน้ำขัง

หลักการของนาน้ำน้อย

  • ปล่อยน้ำในนาแห้งเป็นช่วงๆ เพื่อเร่งการแตกหน่อต่อกอ
  • เพิ่มช่องว่างอากาศหรือออกซิเจนในดิน รากข้าวได้หายใจ ทำให้รากสมบูรณ์และแข็งแรง สร้างรากใหม่ (รากสีขาว)
  • ลดการระบาดของโรคและแมลงที่มีน้ำเป็นตัวนำพา เช่น โรคขอบใบแห้ง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่นสีเขียว
  • ลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก (มีเทน ไนตรัสออกไซด์) ที่เกิดจากระบบการปลูกข้าวแบบนาน้ำขัง

ข้อดีของการปลูกข้าวนาน้ำน้อย

  • เพิ่มช่องว่างอากาศหรือ O2 ในดิน ทำให้จุลินทรีย์พวก aerobic ทำงานได้ดี
  • ช่วยลดปัญหานาหล่ม หน้าดินจับตัวแน่น สามารถเดินตรวจแปลงกำจัดต้นข้าวพันธุ์ปนได้สะดวก
  • ลดการเกิดก๊าชเรือนกระจก เช่น ก๊าชมีเทน ก๊าชไนตรัสออกไซด์ถึงร้อยละ75 และร้อยละ 14 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับการปลูกข้าวแบบนาน้ำขัง
  • ลดการระบาดของโรคที่เกิดจากน้ำเป็นพาหะ เช่น เชื้อแบคทีเรียสาเหตุของโรคขอบใบแห้ง (Bacterial Leaf Blight) และลดแมลงที่อาศัยบริเวณกอข้าวกับผิวน้ำ เช่น เพลี้ย

ขั้นตอนการควบคุมปริมาณน้ำในแปลงนา

  1. หลังปักดำกล้า ขังน้ำในแปลงนา 10 – 15 วัน ให้ระดับน้ำสูงประมาณ 5 เซนติเมตรเหนือผิวดิน เพื่อให้ต้นข้าวตั้งตัวได้เร็ว
  2. ระยะข้าวเริ่มแตกกอ (ตั้งแต่ข้าวอายุ 30 -60 วัน) สัปดาห์ที่ 2-3 หลังปักดำ ระบายน้ำออกจากแปลงนาให้แห้ง ปล่อยน้ำในแปลงให้แห้งสลับน้ำขังเป็นช่วงๆ เพื่อเร่งการแตกหน่อของข้าว
  3. ระยะข้าวแตกกอ ตั้งท้อง-โผล่รวง ขังน้ำในแปลงนาระดับประมาณ 5 เซนติเมตรเหนือผิวดิน เพื่อเพิ่มความชื้นในแปลงนาสำหรับการผสมเกสรของดอกข้าว
  4. ระยะก่อนเก็บเกี่ยว 7-10 วัน ระบายน้ำออกจากแปลงปล่อยให้แปลงนาแห้ง เพื่อเร่งการสุกแก่ของเมล็ดข้าวให้พร้อมกัน
ปักดำ 1 ต้น ต่อ 1 หลุม
ปักดำเป็นแถวระยะ 30 x 30 เซนติเมตร

ปล่อยน้ำในแปลงนาให้แห้งในระยะข้าวแตกกอ
ทรงกอข้าวต้นเดียว (ทรงแผ่) ที่ปลูกในระบบน้ำแห้งสลับขัง
ทรงกอข้าวที่แตกต่างของข้าวพันธุ์ปน
สีกาบใบที่แตกต่างของข้าวพันธุ์ปน

เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
นางจันทร์จิรา รุ่งเจริญ

ที่มา hrdi

สนับสนุนโดย