สภาเริ่มถกร่างพ.ร.บ.งบ 65 วาระ 2-3 อาคม แจงปรับลด 1.6 หมื่นล้าน โยกไว้งบกลาง สำรองแก้ปัญหาโควิด-19 เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 18 ส.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม
โดยเมื่อเวลา 10.10 น. นายอาคม เติมวิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 ได้รายงานผลการพิจารณาของกมธ. โดยปรับลดงบประมาณลง 16,362,010,100 บาท
ทั้งนี้ พิจารณาจากความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ แผนระดับต่างๆ นโยบายสำคัญของรัฐบาล แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ และความพร้อมในการดำเนินงาน เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา อาทิ รายการที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รายการที่ปรับลดเป้าหมายหรือปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานให่เกิดความประหยัด เช่น การฝึกอบรม สัมมนา การจ้างเหมาบริการ การจ้างที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
รวมทั้งรายการที่มีผลการดำเนินงานล่าช้ากว่าแผนที่กำหมดไว้ และคาดว่าใช้จ่ายไม่ทันปีงบประมาณ 65 หรือรายการผูกพันงบประมาณเดิม ที่มีผลการจัดซื้อจัดจ้างต่ำกว่าวงเงินงบประมาณที่เสนอไว้ และรายการที่สามารถใช้เงินจากแหล่งอื่นนอกเหนือจากงบประมาณได้ เช่น เงินนอกงบประมาณ หรือรายได้ที่จัดเก็บเอง และเงินสะสมคงเหลือในหน่วยงานหรือกองทุน
นายอาคม กล่าวว่า สำหรับการเพิ่มงบนั้น กมธ.ได้พิจารณาเพิ่มให้กับงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทาแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด จำนวนทั้งสิ้น 16,362,010,100 บาท ตามจำนวนที่ปรับลดงบประมาณได้ เพื่อสำรองไว้บรรเทาแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ครอบคลุมทั้งด้นเศรษฐกิจและสังคม
“การพิจารณารายระเอียดงบประมาณ ทั้งการปรับลดและเพิ่มงบประมาณ ให้ความสำคัญต่อความพร้อมและศักยภาพของหน่วยงาน ความซ้ำซ้อนเป้าหมายการดำเนินการ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ภารกิจที่สำคัญเพื่อรอรับแก้ไขผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 รายการจำเป็นเร่งด่วน เป็นประโยชน์กับประชาชน เพื่อให้ดำเนินการตามกรอบวงเงินงบประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท ตามที่สภาได้รับหลักการวาระแรก” นายอาคม กล่าว
จากนั้นที่ประชุมเข้าสู่การพิจารณา เป็นรายมาตรา ทั้งนี้ร่างพ.ร.บ.งบฯ65 มีจำนวนมาตราทั้งสิ้น 42 มาตรา โดยมีการแก้ไขทั้งสิ้น 31 มาตรา สำหรับมาตราที่ไม่แก้ไข มีทั้งสิ้น 11 มาตรา แต่มีกมธ. สงวนความเห็น และมีส.ส.ลงชื่อแปรญัตติไว้
ที่มา khaosod