สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ถูกยกให้เป็น “ภัยคุกคามรูปแบบใหม่” แล้ว เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในฐานะรมว.กลาโหม ได้ประกาศในที่ประชุมสภากลาโหม ที่มี ผบ.เหล่าทัพ ผบ.ตร. และบิ๊กทหาร ร่วมประชุม พร้อมเรียกร้องให้ “กองทัพ”นำศักยภาพความพร้อมที่มีอยู่ เข้าไปช่วยสนับสนุนการทำงาน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคให้ประชาชนมีความปลอดภัย และใช้ชีวิตตามมาตรการควบคุมที่กำหนด

เพราะหลังจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเชื้อได้แพร่กระจายจนครบทุกจังหวัดของประเทศไทย ขณะที่การบริหารจัดการดูแลผู้ป่วย ผู้เริ่มป่วย ผู้สัมผัสเสี่ยง ทั้งในเรื่องการเตรียมการ บุคลากร โรงพยาบาล หรือการติดต่อสื่อสาร รวมถึงการตัดสินใจในเคสเร่งด่วน ยังไม่มีประสิทธิภาพดีพอ และล่าช้า

ในที่สุด “กองทัพ” จึงต้องโดดเข้ามารับบทบาทหน้าที่บูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น เพื่อช่วยเหลือประชาชนร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ในการแก้ปัญหาวิกฤติโควิด-19 ระลอก 3 ทั้งการจัดตั้ง รพ.สนาม เตียงสนาม รวมถึงการระดมแพทย์ทหาร พยาบาลทหาร หน่วยเสนารักษ์ และการเปิดค่ายทหารรองรับการแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด โดยมีกำลังพล เจ้าหน้าที่ทหาร พร้อมตลอด 24 ชั่วโมง และเปิดสายด่วนรับเรื่องตลอด 24 ชม.

ขณะที่ภาพรวมทั้ง กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เดินหน้าช่วยเหลือประชาชนในทุกมิติ พร้อมจัดตั้ง “ศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อโควิด-19” ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ณ กรมยุทธบริการทหาร โดยมี พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุด และหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (หน.ศปม.) เป็นผู้ขับเคลื่อนและบูรณาการการใช้ยานพาหนะของกองทัพเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อโควิดในพื้นที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล

ทบ. ตั้ง รพ.สนาม 7 แห่ง กทม. ประจวบฯ และสงขลา พร้อมระดมทีมแพทย์

ขณะเดียวกันการระบาดโควิดระลอกใหม่ ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นจำนวนมาก และแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว จนโรงพยาบาลทั่วไปทั้งของรัฐและเอกชนไม่เพียงพอต่อการรองรับดูแลผู้ป่วย ทำให้ผู้ติดเชื้อหลายรายไม่สามารถเข้ารับการรักษาหรือดูแลในโรงพยาบาลได้ “กองทัพบก” จึงจัดเตรียมสนับสนุน รพ.สนาม โดยใช้อาคาร สถานที่ในหน่วยทหาร และสิ่งอุปกรณ์ที่มีอยู่ดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในขั้นต้นแล้ว จำนวน 19 แห่ง รองรับผู้ติดเชื้อได้ 3,050 เตียง ซึ่งปัจจุบัน รพ.สนามของกองทัพบกได้เปิดดำเนินการแล้ว 7 แห่ง โดยมอบให้ กระทรวงสาธารณสุข เข้าบริหารจัดการแล้ว 3 แห่ง ได้แก่

โรงพยาบาลสนามกองทัพบก “กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1” รองรับผู้ป่วยได้ จำนวน 300 เตียง โดยกระทรวงสาธารณสุข มอบให้โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะจัดบุคลากรทางการแพทย์เข้ามาบริหารจัดการ ทบ.ช่วยอำนวยความสะดวก และรักษาความปลอดภัยสถานที่ที่เป็นการทำงานในลักษณะกองอำนวยการร่วม

กรมพลาธิการ มทบ.11 พล.ร.15 ปรับหน่วยตั้งเป็น รพ.สนาม ส่วน รพ.พระมงกุฎฯ จัดเตียงรองรับกำลังพล ครอบครัว

ส่วนโรงพยาบาลสนามกองทัพบก (กรมพลาธิการทหารบก) สามารถรองรับผู้ป่วยได้ จำนวน 200 เตียง โดยหลังกระทรวงสาธารณสุขเข้าตรวจสอบพื้นที่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขยายเพื่อรองรับผู้ป่วยเพิ่มเติม ยังไม่มีผู้ป่วยเข้าพัก อยู่ระหว่างการปรับปรุง นอกจากนี้ยังได้จัดเตรียม โรงพยาบาลสนามกองทัพบก “กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 15” จ.กระบี่ สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 280 ราย โรงพยาบาลสนามกองทัพบก (กองพลทหารราบที่ 15) จ.สงขลา สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 100 ราย และโรงพยาบาลสนามกองทัพบก “กองพันเสนารักษ์ที่ 1” จ.ลพบุรี สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 150 ราย ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีผู้ป่วยเข้าพัก

และที่เพิ่มข้ามาคือการจัดตั้ง โรงพยาบาลสนามกองทัพบก “มณฑลทหารบกที่ 11” ที่กระทรวงสาธารณสุขเข้าตรวจสอบความคืบหน้า และยังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงให้เหมาะสมตามคำแนะนำของโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ซึ่งจะจัดบุคลากรทางการแพทย์เข้าบริหารจัดการ โดยมีการแบ่งสัดส่วนชัดเจนเพื่อความปลอดภัย

ทร. เปิด 3 หน่วยตั้ง รพ.สนาม เปลี่ยนสโมสรกรมแพทย์ เป็นหอผู้ป่วยปิ่นเกล้า

ขณะที่ พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผบ.ทร. ได้สั่งการให้ หน่วยกองทัพเรือ ทั้ง 3 แห่ง ศูนย์การฝึก หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (เกล็ดแก้ว จังหวัดชลบุรี) หน่วยบัญชาการกองพลนาวิกโยธิน (ค่ายมหาเจษฎาฯ จังหวัดชลบุรี) และสนามฝึก กองทัพเรือ หมายเลข 16 บ้านจันทเขลม จังหวัดจันทบุรี จัดตั้งเป็น รพ.สนาม โดยมีเตียงรองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมด 726 เตียง

“ทัพฟ้า” เนรมิตสนามกีฬาจันทรุเบกษา เป็น รพ.สนาม รองรับ 120 เตียง

ในส่วน พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผบ.ทอ. ได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับขีดจำกัดของสถานพยาบาลต่างๆ โดยโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามกองทัพอากาศ (ดอนเมือง) ขึ้นบริเวณพื้นที่อาคารฝึกและทดสอบสมรรถภาพทหารอากาศ 2 สนามกีฬาจันทรุเบกษา รองรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการและสามารถดูแลตัวเองได้ สามารถรองรับผู้ติดเชื้อทั้งประชาชนและกำลังพลของกองทัพอากาศได้จำนวน 120 เตียง

มีการแบ่งโซนการเฝ้าระวังของผู้ป่วยชายจำนวน 70 เตียง และโซนการเฝ้าระวังของผู้ป่วยหญิง จำนวน 50 เตียง โดยมีอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกให้แต่ละเตียงเรียบร้อย นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง การรักษาความปลอดภัยภายในอาคารด้วยการ CCTV รอบอาคาร 22 จุด และเจ้าหน้าที่สารวัตรทหารอากาศ ดูแลรักษาความปลอดภัยภายนอกอาคาร พร้อมกันนี้ได้นำ “น้องถาดหลุม” หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช มาใช้ในการลำเลียงอาหาร ยา เสื้อผ้า ให้แก่ผู้ติดเชื้อเพื่อลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ด้วย

ขอบคุณภาพ/แหล่งที่มา thairath