การเลี้ยงบอนไซ ถือเป็นอีกหนึ่งงานอดิเรกที่หลายคนชื่นชอบ โดยผู้เลี้ยงในกลุ่มนี้อาจเป็นคนที่มีรสนิยมด้านศิลปะควบคู่ แต่คงไม่จำเป็นต้องร่ำเรียนมา เพียงแค่พอจัดองค์ประกอบได้บ้างก็สามารถทำให้รูปทรงต้นบอนไซที่รักของคุณมองดูแล้วมีความสวยงามตลอดเวลา

ความตั้งใจของผู้เลี้ยงบอนไซมักเริ่มจากความเพลิดเพลินจากงานอดิเรกแล้วมักซื้อมาจำนวน 1-2 ต้น หลังจากฝึกฝนเรียนรู้จับทางวิธีเลี้ยงจนชำนาญมักเพิ่มจำนวนมากขึ้น เพิ่มประเภทมากขึ้น จนกระทั่งบางรายจากความตั้งใจซื้อมาเพื่องานอดิเรกแต่กลายเป็นเรื่องค้าขายไปเลยก็มี

เหมือนอย่าง คุณกรกช ไทยศิริ หรือ คุณโอ๊ค ที่นำบอนไซมาเลี้ยงเพราะมองเห็นมิติในด้านความสงบ ฝึกสมาธิ ตลอดจนได้เห็นพัฒนาการเจริญเติบโตจากการดูแลทำให้เกิดความสุขและอิ่มใจ

คุณโอ๊ค นำบอนไซมาเลี้ยงเพื่อสร้างความเพลิดเพลิน แล้วค่อยๆ สะสมในสวนข้างบ้านเพิ่มมากขึ้น พร้อมไปกับการค้นคว้าหาข้อมูล เรียนรู้ จนมีโอกาสต่อยอดกลายเป็นธุรกิจ เมื่อราว 6 ปีที่ผ่านมา กระทั่งเมื่อวิทยายุทธ์แก่กล้าจึงเสาะหาบอนไซจากหลายแหล่ง หลายสายพันธุ์มาสะสม แล้วซึมซับรูปแบบของศิลปะแต่ละชนิดเพื่อนำไปประยุกต์แล้วสร้างเป็นผลงานใหม่ตามจินตนาการออกมาด้วย

bh-009%e0%b8%aa%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b9%81%e0%b8%99%e0%b8%a7%e0%b8%aa%e0%b8%a7%e0%b8%99%e0%b8%9b%e0%b9%88%e0%b8%b2

คุณโอ๊ค บอกว่า บอนไซคือชื่อเรียกงานศิลปะจากต้นไม้ ความที่เป็นศิลปะต้นไม้บอนไซจึงมีหลายประเภท โดยเสน่ห์ของบอนไซเกิดจากการจำแนกตามรูปทรงต่างๆ เช่น ทรงเอนชาย ทรงตกกระถาง ทรงบัณฑิต ทรงต้น หรือแยกตามชนิด (สายพันธุ์) ซึ่งสายพันธุ์ที่คุณโอ๊คมีอยู่จำนวนประมาณ 60 ชนิด เป็นรูปทรงบอนไซมาตรฐานทั่วไปที่สามารถใช้เป็นแนวทางได้

“ผู้เริ่มต้นหรือมือใหม่อาจใช้ทรงมาตรฐานเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจในการทำ แต่ไม่ควรยึดเป็นทรงเหมือนกันทุกต้น เพราะมิเช่นนั้นคงไม่ต่างอะไรกับงานโรงงานผลิต และจินตนาการของเราก็จะถูกจำกัด”

ขั้นตอนการปลูกและการเพาะเลี้ยง

คุณโอ๊ค ให้รายละเอียดว่า ควรเริ่มต้นจากหลายวิธี เพื่อบ่มเพาะความรู้พื้นฐาน อาจลองเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ปักชำ แต่สำหรับวิธีที่ง่ายที่สุดคือ หาต้นตอจากไม้กระถาง ต้นไม้จากสวน จากป่าในพื้นที่ดิน โดยให้เน้นไม้ยืนต้น ใบเล็ก เป็นหลัก

แล้วจึงนำมาจินตนาการรูปทรงที่อยากให้เป็น จากนั้นมาคัดกิ่ง เข้าลวด แก้ทรง แล้วเลี้ยงต่อยอด รอให้แตกตา แตกกิ่ง วิธีนี้นอกจากจะช่วยย่นระยะเวลาการรอไปได้แล้ว ยังสามารถฝึกฝนฝีมือ จึงทำให้ขณะนี้ในสวนของคุณโอ๊คมีบอนไซทั้งจำนวนและสายพันธุ์มากกว่า 400 ต้น

แต่อย่างไรก็ตาม คุณโอ๊ค ชี้ว่า การตอนกิ่ง การปักชำต้นขนาดเล็กสามารถนำมาทำเป็นบอนไซขนาดจิ๋วที่เรียกว่า มาเมะ โชฮินได้ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมเนื่องจากไม่ต้องการพื้นที่ตั้งมากนัก รวมถึงยังเป็นงานอดิเรกที่สามารถพกพาไปทำที่ไหนได้ด้วย

bh-008-%e0%b8%9b%e0%b8%b1%e0%b8%95%e0%b8%95%e0%b8%b2%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b8%b5%e0%b8%a2

การดูแลใส่ปุ๋ย อาหารเสริม

ลูกค้าหรือเพื่อนที่มาติดต่อ ถามแทบทุกคนว่าบอนไซเลี้ยงยากไหม คุณโอ๊ค บอกว่า อยากให้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับบอนไซว่าเลี้ยงไม่ยาก ความจริงบอนไซอดทนกว่าต้นไม้ทั่วไป อดทนกว่าไม้ดอก ไม้ล้มลุก หรือไม้กระถางเสียด้วยซ้ำ เพียงแต่ควรเข้าใจในเรื่องสำคัญเพียงไม่กี่เรื่อง เช่น แดด น้ำ อากาศ สภาพดิน เป็นต้น

บอนไซ แต่ละชนิดมีความต้องการแตกต่างกันไป ผู้เลี้ยงบอนไซจึงควรทำความรู้จักกับแต่ละสายพันธุ์ที่ตัวเองสนใจ โดย­หลักๆ แล้ว ปุ๋ยที่ใช้ควรเน้นไปทางชีวภาพ เพื่อต้องการรักษาสภาพดิน เนื่องจากบอนไซมีพื้นที่ที่­จำกัดอยู่ในกระถาง โดยปกติก็จะใส่ปุ๋ย­เดือนละครั้ง เป็นสูตร­ปกติทั่วไป 16-16-16 ­(ยกเว้นบางชนิดเร่งดอก­เร่งผลในบางฤดูกาล) ส่วนมากเปลี่ยนดินประมาณ 2-3 ­ปี ต่อครั้ง (ยกเว้นพวกที่­โตไวมากๆ เช่น เพรมน่า อาจต้องเปลี่ยนปีละครั้ง)

บอนไซที่มีเกือบทั้งหมดจะเป็นไม้ยืนต้นที่นำมาจำลองไว้ในกระถาง แล้วเลี้ยงดูแบบจำกัดพื้นที่ ฉะนั้น การดูแลเรื่องน้ำ แดด อาหาร ควรให้มีความสมดุลและต้องเข้าใจในแต่ละสายพันธุ์ บางสายพันธุ์ต้องการการปรับตัวและดูแลมากหน่อย เช่น พวกตระกูลสนญี่ปุ่น เนื่องจากไม่ได้โตมาในบ้านเรา จึงจำเป็นต้องใส่ใจในเรื่องแดด น้ำ อาหาร

“แต่ถ้าหากเทียบกับสายพันธุ์ของบอนไซในบ้านเราแล้ว เช่น มะขาม มะสัง เข็ม โมก เพรมน่า พวกนี้อย่างที่เรารู้กันว่าอดทนมาก และไม่ต้องอาศัยปัจจัยมากมายในการปรับตัวหรือดำรงชีวิตในบ้านเรา ผู้ที่สนใจเริ่มต้นเลี้ยงบอนไซ จึงแนะนำให้เริ่มจากสายพันธุ์ที่เลี้ยงง่าย ราคาไม่แพง อดทน และโตไวก่อน”

bh-003-%e0%b8%9a%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b9%84%e0%b8%8b%e0%b9%80%e0%b8%82%e0%b9%87%e0%b8%a1%e0%b9%81%e0%b8%94%e0%b8%87

ปัญหาโรค/แมลง มีอะไรบ้าง

ปัญหาเรื่องโรค แมลงต่างๆ ขึ้นกับแต่ละสายพันธุ์ บางสายพันธุ์อดทนมาก และเนื้อแข็งจนเรียกว่าหายห่วงจากแมลงต่างๆ ถ้าจะห่วงคือเรื่องรากเน่าจากเชื้อราอันเป็นผลมาจากภายในกระถางมีความชื้นหรือน้ำไม่ระบาย ซึ่งการผสมดินที่ระบายน้ำจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ดี บางชนิดพวกไม้เนื้ออ่อน โตไว แต่ต้องระวังเรื่องเพลี้ย และแมลงต่างๆ เช่น พวกเพรมน่า เป็นต้น ทั้งนี้ ควรเน้นการป้องกันมากกว่าการแก้ไข เพราะฉะนั้น การดูแลเอาใจใส่ หมั่นสังเกตอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้บอนไซมีความแข็งแรง

จุดอ่อนการเพาะเลี้ยงบอนไซอยู่ตรงไหน

ส่วนใหญ่อยู่ที่ความไม่เข้าใจของผู้เลี้ยง แล้วความไม่เข้าใจมักเริ่มต้นที่การเลือกซื้อสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับผู้เลี้ยง เพราะถ้ารู้ว่าไม่ค่อยมีเวลา ยิ่งจำเป็นที่จะต้องเลือกพันธุ์ให้เหมาะสม เช่น สายพันธุ์ที่อดน้ำได้ในระยะเวลาสั้นๆ สายพันธุ์ที่ไม่ต้องการการดูแลตลอดเวลา สายพันธุ์ที่ไม่อ่อนไหวต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านี้ผู้เลี้ยงต้องถามตัวเองก่อนแล้วจึงไปเลือกสายพันธุ์

“ลูกค้าบางท่านอยู่ในบ้านหรือคอนโดฯ ที่แสงแดดเข้าไม่ถึง แต่อยากเลี้ยงบอนไซตระกูลสน ที่ต้องอาศัยแสงแดด การหมุนเวียนของลมก็อาจจะไม่เหมาะสม ลูกค้าที่แวะเวียนมาที่สวนผมจะคอยให้แง่คิดเสมอเรื่องการแยกแยะระหว่างความชอบส่วนตัวกับความเหมาะสมสภาพบรรยากาศของสถานที่ที่เลี้ยง”

bh-001-%e0%b9%80%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%a1%e0%b8%99%e0%b9%88%e0%b8%b2

คิดว่าจุดเด่นของบอนไซฮันเตอร์อยู่ตรงไหน 

สำหรับคุณโอ๊คเขามองบอนไซคืองานศิลปะ เป็นงานที่ให้ความสุข จึงต้องการสะท้อนสิ่งเหล่านี้ออกมาในความเป็นบอนไซฮันเตอร์ นอกจากนั้น ถ้าเดินทางมาชมที่สวนจะพบและสัมผัสถึงความเป็นกันเอง แล้วยังเน้นเรื่องการเอาใจใส่ดูแลลูกค้า พร้อมที่จะให้คำแนะนำปรึกษาได้ตลอดเวลา

ในบางกรณีที่ลูกค้ารับไปแล้วเลี้ยงมีปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น ทางสวนยินดีรับผิดชอบเพราะไม่เน้นต้องการเพียงแค่ขาย แต่ต้องการให้ลูกค้ามีบอนไซที่สวยถูกใจ มีความสมบูรณ์ทั้งรูปทรงและกิ่งก้านใบเพราะมองว่าทุกต้นเป็นของที่สะสมได้ สามารถเลี้ยงแล้วทำให้เกิดความเพลิดเพลิน คลายเครียด ช่วยยืดอายุได้

ทำการตลาดอย่างไร

ความตั้งใจอยากให้คนที่มีความสนใจและรักบอนไซเหมือนกันมีโอกาสมาร่วมทำกิจกรรมและเรียนรู้ทำบอนไซไปด้วยกันเป็นเหตุผลที่ทำให้คุณโอ๊คไม่ได้คิดทำการตลาดอะไรเป็นพิเศษ เพราะตลอดเวลาที่คลุกคลีกับบอนไซมามากกว่า 16 ปี ทำให้เขามองว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นของสะสมที่มีมูลค่าทางใจมากกว่าการขาย กระทั่งเมื่อเวลาผ่านไปจำนวนต้นยิ่งมากขึ้น ขณะเดียวกัน พื้นที่เดิมคับแคบลง จึงมีความจำเป็นต้องตัดใจขายเพื่อเปิดโอกาสให้ต้นบอนไซมีการพัฒนารูปทรงใหม่เข้ามาเติมเต็ม

“ปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากขายราคาไม่สูง มีหลายราคา ทั้งนี้ การกำหนดราคาขายไม่สามารถระบุได้ชัดเจนลงไป ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นรูปทรง อายุ สายพันธุ์ เพราะบางครั้งต้นเล็กเท่าฝ่ามืออาจมีราคาสูงกว่าต้นใหญ่เท่าเอว อย่างไรก็ตาม ระดับราคาที่ขายมีตั้งแต่หลักพันไปถึงหลักแสน แต่ไม่ต้องตกใจเพราะถ้าถูกใจพูดคุยกันได้”

bh-004-%e0%b9%82%e0%b8%a1%e0%b8%81%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%b9%e0%b8%a5%e0%b8%b2

คนที่เริ่มต้นเลี้ยงควรทำอย่างไร

ควรเริ่มจากหาข้อมูลเบื้องต้นก่อน เดี๋ยวนี้ข้อมูลเข้าถึงง่ายมากจากเทคโนโลยี สามารถหาดูวิธีการเลี้ยง การดูแล และการขยายพันธุ์ทำได้ไม่ยาก สมัยก่อนการเข้าลวดแต่ละกิ่งยังต้องลองผิดลองถูก เพราะฉะนั้น แนะนำผู้ที่สนใจเริ่มเลี้ยง ควรศึกษาให้ดีก่อน ไม่ว่าจะเป็นความเหมาะสมของสถานที่ สายพันธุ์ที่เหมาะสม มีเวลาเพียงพอในการดูแลแค่ไหน

อาจจะลองเริ่มเลี้ยงจากสายพันธุ์ที่อดทน เลี้ยงง่าย โตไว ในราคาไม่แพงดูก่อน หลังจากนั้นค่อยต่อยอดไป ที่สำคัญเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้และมั่นใจว่าสามารถปรึกษาผู้ขายได้ ทั้งนี้ ที่สวนมักมีกิจกรรมทำบอนไซกันอยู่ตลอดเวลา และหากไม่ลำบากสามารถเดินทางมาร่วมกิจกรรมกันได้

“สิ่งที่สำคัญที่สุดในการขายคือ ความซื่อสัตย์ บนความรับผิดชอบ ทางสวนจะแนะนำบางอย่างที่ไม่เหมาะสม เพราะไม่ได้หวังรายได้จนลืมความซื่อสัตย์ ต้องการให้ลูกค้าทุกท่านเป็นเพื่อนกัน อยากให้ แลกข้อมูลข่าวสารในเรื่องประสบการณ์ระหว่างกัน เพราะบอนไซเป็นงานศิลปะชนิดหนึ่งที่ไร้ขีดจำกัด” เจ้าของสวนบอนไซ กล่าวฝาก

สอบถามรายละเอียดการปลูกบอนไซ หรือถ้าสนใจอยากเข้าชมสวน Bonsai Hunter – บอนไซ-ฮันเตอร์ ติดต่อได้ที่ คุณกรกช ไทยศิริ หรือ คุณโอ๊ค หมายเลขโทรศัพท์ (080) 963-2484 หรือ facebook page : Bonsai Hunter – บอนไซ-ฮันเตอร์

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ และ sentangsedtee

สนับสนุนโดย