สธ.เผยยอดติดเชื้อโควิดไทยคงตัว เฉลี่ยวันละ 2 หมื่นราย ไม่พุ่งทะยานเพิ่ม ส่วนการตรวจ ATK กทม.เจอติดเชื้อลดลงเหลือ 5% จำนวนผู้เสียชีวิตจากเดิมพบครึ่งหนึ่ง ลดลงเหลือ 1 ใน 3 เศร้าหญิงท้อง ผู้ช่วยเหลือผู้ป่วยเสียชีวิต เหตุยังไม่ได้รับวัคซีน
เมื่อวันที่ 21 ส.ค. นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ประจำวัน ว่า สถานการณ์ทั่วโลกแนวโน้มผู้ติดเชื้อกำลังเพิ่มขึ้น ประเทศส่วนใหญ่ในโลกกำลังประสบปัญหาการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา เช่นเดียวกับประเทศไทย แต่การเสียชีวิตแนวโน้มค่อนข้างคงที่ แม้จะมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม แต่ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แตกต่างจากในอดีต จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเร็ว
โดยรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาทั่วโลกติดเชื้อเพิ่มขึ้น 6.5 แสนราย ประเทศที่รายงานมากสุดกลับมาเป็นสหรัฐอเมริกา แม้จะฉีดวัคซีนจำนวนมากก็ยังติดเชื้อได้ เสียชีวิต 1,022 ราย ส่วนประเทศที่รายงานติดเชื้อใหม่เกิน 2 หมื่นราย ได้แก่ อินเดีย บราซิล รัสเซีย ฝรั่งเศส อังกฤษ ประเทศเหล่านี้มีการฉีดวัคซีนสูง แต่จำนวนผู้เสียชีวิตไม่มากนัก เช่น อังกฤษฉีดมากกว่า 70% มีผู้เสียชีวิตประมาณ 114 ราย คือ มีผลการป้องกันเสียชีวิตได้ เช่นเดียวกับฝรั่งเศสเสียชีวิต 83 ราย
ส่วนประเทศไทยมีรายงานติดเชื้อใหม่ 20,571 ราย เสียชีวิต 261 ราย ส่วนหนึ่งเป็นผู้เสียชีวิตที่เพิ่งเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาและมีการรวบรวมตัวเลขของผู้เสียชีวิตในช่วงที่ผ่านมาที่ยังตกค้างมารวมด้วย สำหรับภาพรวมสัปดาห์ที่ผ่านมาการติดเชื้อเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นราย มีแนวโน้มไม่พุ่งทะยานต่อ โดยพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เฉลี่ยวันละ 8 พันกว่าราย วันนี้ติดเชื้อ 8,540 ราย คิดเป็น 42% ที่เหลือคือ 71 จังหวัดประมาณ 58% แนวโน้มคงที่มาหลายวันแล้ว ที่น่าสนใจคือ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ที่มีการติดเชื้อ 927 ราย และเรือนจำ 235 ราย มีการติดเชื้อแต่ไม่ได้แพร่ออกมานอกเรือนจำ
สำหรับ กทม.รายงานวันละประมาณ 4 พันกว่าราย สมุทรปราการวันนี้ 1.5 พันราย สมุทรสาคร 1.4 พันกว่าราย ส่วนที่จังหวัดมากกว่า 1 พันรายแต่น้อยลงคือ ชลบุรี 1.2 พันกว่าราย ที่เหลือจะติดเชื้อไม่ถึง 1 พันราย สำหรับการเฝ้าระวังด้วยการตรวจ ATK ที่ใช้ในหลายพื้นที่ โดย กทม.มีการตรวจมากที่สุด การตรวจพบเชื้อมีแนวโน้มที่ดี สถานการณ์ใน กทม.ถ้าดูตัวเลขจากกลุ่มเขตต่างๆ ตัวเลขที่สูงสุดก็ยังน้อยกว่า 20% และค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5% ถือว่าลดลงเมื่อเทียบกับหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
นพ.โสภณกล่าวอีกว่า ข้อมูลที่ใช้ติดตามสถานการณ์การระบาดได้ดี คือ ผู้เสียชีวิตและปัจจัยเสี่ยงว่าเกิดจากอะไร เมื่อวานเสียชีวิต 261 ราย เป็นชายมากกว่าหญิงเล็กน้อย มีทั้งสัญชาติไทย 250 ราย เมียนมา 6 ราย กัมพูชา 2 ราย ลาว จีน เบลเยียม ประเทศละ 1 ราย สัดส่วนอายุผู้เสียชีวิต 2 ใน 3 เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัวอายุน้อยกว่า 60 ปี 55 ราย หรือ 21% สองกลุ่มนี้รวมกัน 87% ที่เหลือไม่มีโรคเรื้อรัง มีหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต 1 ราย และผู้ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วย 1 ราย ซึ่งทั้งสองรายนี้ยังไม่ฉีดวัคซีน
ปัจจัยเสี่ยงในวันนี้คือความดันโลหิตสูง 148 ราย เบาหวาน 101 ราย ส่วนแหล่งโรคที่ทำให้ติดเชื้อ คือ ติดเชื้อในพื้นที่การระบาด 235 ราย อีกส่วนติดจากคนรู้จัก เช่น เพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน คนรู้จักกัน 97 ราย เกิดจากสมาชิกในครอบครัวลดลงเหลือ 24 ราย ที่เหลืออาศัยในพื้นที่เสี่ยง 114 ราย ผู้เสียชีวิตวันนี้จากเดิม กทม.มีครึ่งหนึ่งก็เหลือ 1 ใน 3 คือ 88 ราย ปริมณฑลตามมา 53 ราย ที่เหลือพบในจังหวัดภคใต้ 24 ราย อีสาน 33 ราย ภาคเหนือและกลางตามมา