เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูแล้ง อากาศแห้ง สวนหลายๆสวน พบปัญหาการระบาดของเพลี้ยไฟ จนตั้งกระทู้ถามกันมามากมาย บทความนี้จึงอยากอธิบายถึงพฤติกรรมการระบาดและสารป้องกันกำจัดเพลี้ี้ยไฟกันอีกที เพื่อที่ชาวสวนบางท่านที่อาจสับสน หรือลืมไปแล้วหรืออาจเข้าใจไม่หมด จะได้นึกออกและทำความเข้าใจเพิ่มเติม

เพลี้ยไฟที่พบเห็นในประเทศไทยมีมากมายหลายชนิด ทั้งที่มีความเจาะจงกับพืช และบางชนิดมีพืชอาหารที่หลากหลาย บางชนิดเป็นเพลี้ยไฟตัวห้ำ คือจะกินเพลี้ยไฟด้วยกันเอง แต่มักจะตัวใหญ่กว่าเพลี้ยไฟดูดน้ำเลี้ยงพืช

เพลี้ยไฟเป็นแมลงกลุ่มปากเขี่ยดูด ก่อนจะดูดน้ำเลี้ยงพืชตรงส่วนอ่อนๆ หรือบางๆ ของพืช เช่นยอดอ่อน หรือดอกตูม ดอกบาน กลีบดอก จะต้องใช้ปากเขี่ยให้เนื้อเนื่อพืชช้ำเสียก่อน เพื่อให้น้ำเลี้ยงพืชซึมออกมามันจึงจะดูดได้ รอยแผลบนพืชจึงเป็นช่องทางหนึ่งที่เชื้อโรคพืชสามารถเข้าทำลายได้ง่าย นอกจากนี้เพลี้ยไฟก็ยังสามารถเป็นพาหะนำไวรัสสาเหตุโรคพืชจากต้นเป็นโรคมายังต้นปกติได้ด้วย

แต่ชนิดของเพลี้ยไฟก็ยังมีความเฉพาะเจาะจงกับพืชและชนิดของไวรัสเช่นกัน นั่นคือไม่ใช่เพลี้ยไฟทุกชนิดจะเป็นพาหะของไวรัสทุกชนิดนั่นเอง หมายความว่าการระบาดของเพลี้ยไฟที่พบเห็นในสวน จะมีชนิดเพลี้ยไฟปะปนกันอยู่มากมายหลายชนิด โดยแต่ละชนิดอาจเป็นพาหะของโรคหรือไม่ก็ได้

การควบคุมเพลี้ยไฟค่อนข้างยาก ต้องใช้หลายๆ วิธีร่วมกัน เริ่มต้นจากการสำรวจจำนวนด้วยการเขย่ากิ่งหรือดอกบนกระดาษขาวแล้วตรวจดูว่ามีเพลี้ยไฟเท่าใดหรืออาจติดตั้งกับดักกาวเหนียวสีเทาอมน้ำเงิน ซึ่งควรอยู่ระดับยอดพืชหรือใกล้บริเวณที่เพลี้ยไฟเข้าไปแล้วตรวจนับจำนวนเช่นกัน สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมคือจำนวนเพลี้ยไฟที่ตรวจพบไม่มีความสัมพันธ์กับความเสียหายที่เกิดจากการถ่ายทอดไวรัส เพราะหากเป็นเพลี้ยไฟพาหะจะพบความเสียหายอย่างมาก

เพลี้ยไฟมีหลายชนิดและมีพืชอาหารหลายอย่างเช่นกันจึงมักพบว่ามันเคลื่อนย้ายไปมาได้ในแปลงปลูกพืชและบริเวณใกล้เคียง ดังนั้นเมื่อมีการหักร้างถางพงหรือรื้อแปลงพืชใกล้เคียง เพลี้ยไฟก็จะอพยพมายังพืชที่เราปลูก ดังนั้นพืชที่ปลูกใกล้กันควรเป็นพืชทีต้านทาน หรือพืชต่างกลุ่มอาหารของเพลี้ยไฟที่มีอยู่ตรงนั้น และพยายามทำให้พืชแข็งแรงและทนทานต่อการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟ โดยการให้น้ำพืชอย่างสม่ำเสมอและหลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนเพียงอย่างเดียว เพราะจะเป็นการเพิ่มประชากรของเพลี้ยไฟเป็นอย่างดี

ลักษณะการทำลายของเพลี้ยไฟ
เพลี้ยไฟแตงโม | SV Group | Online Farmers Assistant

สารป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟทำได้ยาก เพราะเมื่อพบความเสียหายแล้วตัวแมลงจะย้ายไปอยู่ที่อื่น การใช้สารเคมีจึงไม่สามารถทำให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วกลับคืนมาได้ และสารเคมีก็ไม่ได้ฆ่าเพลี้ยไฟได้เร็วพอที่จะยับยั้งการถ่ายไวรัสให้แก่พืชในกรณีที่มันเป็นพาหะนำโรคไวรัส
การกำจัดมันได้ยากอีกประการหนึ่งคือ เพลี้ยไฟเคลื่อนที่ได้ มีนิสัยของการทำลายและการปกป้องไข่และตัวเต็มวัยอย่างดี การพ่นสารเคมีมักเกิดความผิดพลาดในการพ่นให้ทั่วถึง ช่วงเวลาที่พ่นและพื้นที่ที่สารเคมีครอบคลุมเข้าไปถึง ก่อนการพ่นสารเคมี ต้องทำความเข้าใจประสิทธิภาพของสารเคมีนั้นๆ เป็นอย่างดีเพราะสารป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟมีหลายชนิดที่มีความเหมาะสมกับเพลี้ยไฟแต่ละชนิด และในการระบาดของเพลี้ยไฟในแปลงหนึ่งๆ ก็เกิดจากเพลี้ยไฟหลายชนิดด้วยเช่นกัน

สารเคมีที่เหมาะกับการใช้ในเรือนปลูกพืช มีความเป็นพิษต่ำ และไม่มีผลตกค้างที่เป็นพิษต่อคน สัตว์เลี้ยงและผึ้ง จะเป็นสารเคมีประเภทสัมผัสตาย เช่น azadirachtin สารประเภทน้ำมัน เช่น สะเดา petrolium oil และสาร pyrethrins ซึ่งจะมีการผสมกับสารอื่น เช่น piperonyl butoxide สารประเภทนี้ต้องพ่นให้ทั่วครอบคลุมส่วนที่เป็นตา ยอดอ่อน และส่วนที่อ่อนๆ ของพืช และต้องพ่นก่อนมีการระบาดของเพลี้ยไฟ หรือเมื่อเริ่มพบความเสียหายช่วงแรกๆ

สารอื่นๆ เช่น spinosad ที่อาจผสมสารพวกน้ำมัน แต่สารนี้เป็นอันตรายต่อผึ้ง สารเคมีกลุ่มดูดซึมทีสามารถเคลื่อนย้ายเข้าสู่พืชได้และมีประสิทธิภาพ เช่น กลุ่ม neonicotinoids แต่ก็ยังมีความผันแปรในการกำจัดเพลี้ยไฟ

ส่วนสารเคมีอื่นๆ ที่ห้ามใช้กับพืชอาหารหรือควรหลีกเลี่ยง เพราะมีความเป็นพิษสูงต่อผึ้งและแมลงศัตรูธรรมชาติ และยังทำให้ไรแมงมุมมีจำนวนมากขึ้นด้วย คือสารกลุ่ม organophosphate acephate สาร organophosphate เช่น pyrethroide ต่างๆเป็นต้น

ปัญหาการควบคุมเพลี้ยไฟไม่ได้ผล พอสรุปได้ดังนี้

1. เพลี้ยไฟมีวงจรชีวิตสั้น และต่อเนื่อง ดักแด้อาศัยอยู่ในดิน ไข่ซ่อนไว้ในดอก ออกไข่ครั้งละมากๆ ประมาณ 150-300 ฟอง ในระยะเวลา 30-45 วัน ขึ้นกับอุณหภูมิ
2. ต้านทานต่อสารเคมี pyrethroids, organophosphate และ carbamate ได้ง่าย
3. การพ่นสารเคมีต้องทำต่อเนื่องและตรงกับช่วงชีวิตของแมลง อุณหภูมิที่สูงขึ้นช่วงชีวิตจะสั้นลง จึงต้องเพิ่มความถี่ของการพ่นสาร
4. แนะนำการพ่น 3 ครั้งด้วยสารเพียงชนิดเดียวกันทุก 3-5 วัน หลังการพ่นครั้งที่3 ให้ตรวจนับแมลงว่าลดลง ซึ่งมักมีช่วงพักการระบาดประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วจะเริ่มมีการระบาดใหม่

คำแนะนำสำหรับการพ่นสารกำจัดเพลี้ยไฟให้ได้ผล

1. พ่นก่อนพบการระบาด
2. ตรวจสอบการระบาดของแมลง หากไม่พบก็ยังไม่ต้องพ่นซ้ำ
3. ใช้เครื่องพ่นที่ให้ละอองขนาดเล็กมาก (เล็กกว่า 0.1 มิลลิเมตร) ตรวจสอบได้โดยการพ่นน้ำเปล่าบนกระดาษซับ
4. พ่นเวลาเช้าหรือเย็น เพราะละอองจะอยู่บนใบพืชได้นานกว่า
5, อย่าผสมสารเคมี เพราะการผสมสารเคมีตัวอื่นเพิ่มลงไปจะเป็นการเพิ่มอัตราการดื้อยา แต่ให้เปลี่ยนกลุ่มสารเคมีเมื่อพ่นไปแล้ว 3 ครั้ง ตามรอบขอบวงจรชีวิตแมลง
6. ตรวจสอบความเป็นกรด ด่างของน้ำที่ใช้ผสมสารเคมีว่าอยู่ที่ประมาณ 6.5-6.8 เพราะความเป็นกรด ด่างของน้ำมีผลต่อประสิทธิภาพของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างมาก

สนับสนุนโดย

กำจัดเพลี้ยไฟด้วย อัลติส 100