ชนิดของถั่วเขียวในประเทศไทย
ชนิดของถั่วเขียวในประเทศไทย แบ่งตามลักษณะเปลือกเป็น 4 ชนิด คือ
1. ถั่วเขียวเมล็ดมัน เป็นถั่วเขียวที่มีลักษณะเมล็ดสีเขียวมีมันวาว ฝักเมื่อแก่จะลักษณะสี 2 สี ตามสายพันธุ์ คือ พันธุ์อู่ทอง 1?ฝักมีสีดำ และพันธุ์พื้นเมืองฝักขาว ฝักมีสีขาวนวล
2. ถั่วเขียวธรรมดา หรือถั่วเขียวเมล็ดด้าน เป็นถั่วเขียวที่มีสีเขียว มีลักษณะเมล็ดด้าน
3. ถั่วเขียวสีทอง มีลักษณะคล้ายกับถั่วเขียวผิวมัน และถั่วเขียวธรรมดา แต่เมล็ดมีสีเขียวอมเหลือง มีทั้งลักษณะเมล็ดด้าน และเมล็ดมัน
4. ถั่วเขียวผิวดำ เป็นถั่วเขียวที่มีลักษณะเมล็ดคล้ายกับถั่วเขียวธรรมดา แต่ต่างจากถั่วเขียวธรรมดาคือ ลำต้นมีทรงพุ่มใหญ่ และแตกกิ่งก้านมากกว่า บางพันธุ์อาจมีลักษณะยอดเลื้อยพันกัน ใบหนา ลำต้นมีขนปกคลุม ลักษณะก้านใบ และฝักหนากว่า ดอกออกสีเขียวอมเหลือง ฝักป้อมสั้นกว่า เมล็ดมีสีดำมีขนาดปานกลาง อายุเก็บเกี่ยวในช่วง 80-90 วัน

การปลูกถั่วเขียว
ฤดูปลูก
การปลูกถั่วเขียวในบ้านเราแบ่งตามช่วงฤดูเป็น 3 ฤดูกาล คือ
1. การปลูกถั่วเขียวผิวมันต้นฤดูฝน มักเป็นการปลูกตามพื้นที่ไร่ในต้นฤดูฝนช่วงเดือนเมษายน-ต้นเดือนมิถุนายน และจะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม การปลูกถั่วเขียวในลักษณะนี้จะมีผลผลิตประมาณร้อยละ 10 ของผลผลิตทั้งหมด เนื่องจากเป็นการปลูกบางพื้นที่เพื่อการผลิตถั่วเขียวงโดยเฉพาะ การปลูกในช่วงนี้ถั่วเขียวจะเจริญเติบโตดี แตกกิ่งก้านสาขามาก เพราะได้รับน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง มีอุณหภูมิ และความชื้นเหมาะแก่การเจริญเติบโต จึงทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าฤดูอื่น แต่อาจประสบปัญหาเรื่องฝักเสียหายจากน้ำฝน

2. การปลูกถั่วเขียวปลายฝน มักปลูกในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน และเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ถั่วเขียวที่ผลิตในช่วงนี้มีปริมาณมากที่สุด ประมาณร้อยละ 80 ของผลผลิตทั้งหมด เนื่องจากมีปริมาณพื้นที่ปลูกมากขึ้นหลังหลังการเก็บเกี่ยวพืชไร่อื่น ๆ เช่น ปลูกหลังข้าวโพด ปลูกหลังถั่วลิสง เ็นต้น ผลผลิตที่ได้ต่อไร่จะต่ำกว่าการปลูกในช่วงต้นฝน เนื่องจากได้รับน้ำที่น้อยลง แต่คุณภาพไม่แตกต่างมากนัก อีกทั้งลดความเสียหายของเมล็ดจากน้ำฝนได้

3. การปลูกถั่วเขียวผิวมันหลังฤดูการเก็บเกี่ยวข้าว การปลูกถั่วเขียวในลักษณะนี้ เรียกว่า ถั่วนา โดยปลูกในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม หลังการเก็บเกี่ยว และเก็บเกี่ยวประมาณเมษายน-พฤษภาคม มีผลผลิตประมาณร้อยละ 10 ของผลผลิตทั้งหมด เนื่องจากมีพื้นที่การปลูกน้อย และมีเฉพาะบางพื้นที่

การปลูกถั่วเขียวผิวมัน
ถั่วเขียวผิวมันถือเป็นพันธุ์ถั่วเขียวที่นิยมปลูกมากที่สุด เนื่องจากมีความต้องทางตลาดสูง และสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ปัจจุบันมี 3 พันธุ์ คือ พันธุ์อู่ทอง 1 พันธุ์กำแพงแสน 1 และพันธุ์กำแพงแสน 2

ถั่วเขียวพันธุ์อู่ทอง 1 เป็นพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูกมานาน พันธุ์นี้ มีชื่อเดิมว่า พันธุ์ M7 A ได้รับการปรับปรุง และคัดพันธุ์ในปี 2514 เป็นพันธู์มีลักษณะดีเด่นหลายด้าน ได้แก่ ต้นมีลักษณะเป็นพุ่ม สูงตั้งแต่ 50 – 75 เซนติเมตร กิ่งก้านมาก ใบใหญ่ ออกดอกเมื่ออายุ 35 วัน ดอกออกเป็น 2 ชุด ดอกชุดที่สองเริ่มออกเมื่อฝักรุ่นแรกเริ่มแก่ ฝักเป็นกระจุก 5-8 ฝัก ฝักชุดแรกมีเฉลี่ยต้นละ 15 – 25 ฝัก หนึ่งฝักมี 8-14 เมล็ด ฝักอ่อนมีสีเขียว และสีดำเมื่อแก่ ฝักค่อนข้างเหนียว ไม่เปราะ และแตกง่าย เมล็ดมีสีเขียวผิวเมล็ดมันวาว อายุการเก็บเกี่ยวที่ 65-70 วันหลังงอก ให้ผลผลิตสูง 150-200 กิโลกรัม/ไร่ สามารถเก็บผลผลิตได้ 2 ครั้ง

ดินที่เหมาะ
ลักษณะดินที่เหมาะสำหรับปลูกถั่วเขียวจะเป็นดินร่วน ดินร่วนปนทราย ดินร่วนซุ่ยดี มีหน้าดินลึก ระบายน้ำ และไม่มีน้ำท่วมขัง มีแร่ธาตุ N P K และอินทรีย์วัตถุที่เพียงพอ และควรมีจุลินทรีย์ในดินสูง

สำหรับดินเหนียวหรือดินเลน เป็นดินที่ให้ผลผลิตถั่วไม่ค่อยดี เนื่องจากอุ้มน้ำดี ทำให้ดินเฉะ และท่วมขังง่าย หากต้องการปลูกจะต้องทำร่องหรือทางน้ำไหลสำหรับระบายน้ำออกแปลง โดยเฉพาะการปลูกในฤดูฝน

ส่วนดินที่มีลักษณะเป็นดินทรายจัด มักพบเป็นพื้นที่ไร่ในที่สูง เช่น พื้นที่ไร่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ลักษณะนี้มักประสบปัญหาเรื่องน้ำไม่เพียงพอ และมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ จึงต้องบำรุงดินด้วยปุ๋ยหมัก และปุ๋ยเคมีในปริมาณที่พอเหมาะ และที่สำคัญต้องจัดหาระบบให้น้ำที่เพียงพอ แต่โดยทั่วไปการปลูกในพื้นที่ดินทรายมักปลูกในช่วงฤดูฝนเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ หรือปลูกในที่ดอนหลังการเก็บเกี่ยวข้าว

การเตรียมดิน
ลักษระการเตรียมดินอาจแตกต่างกันตามสภาพพื้นที่ และฤดูการปลูก โดยทั่วไปจะทำการเตรียมดินด้วยการไถพรวนดิน และกำจัดวัชพืชอย่างน้อย 1- 2 ครั้ง โดยอาจไถครั้งเดียวก่อนปลูกเพื่อลดต้นทุน ด้วยการไถหน้าดินลึกประมาณ 30 ซม. โดยมีระยะห่างการไถประมาณ 1-2 อาทิตย์ และ 5-10 วันก่อนปลูก การไถก่อนปลูกมักไถขึ้นร่อง เป็นร่องเดี่ยว กว้าง 30-40 ซม.

วิธีการปลูก และระยะปลูก
การปลูกถั่วเขียวทำได้ 3 วิธีการ คือ
1. การปลูกเป็นหลุม วิธีนี้เป็นการปลูกโดยวิธีหยิดหลุมบนคันร่องที่เตรียมไว้ โดยมีระยะระหว่างแถวประมาณ 50 เซนติเมตร และระยะระหว่างหลุม 20 เซนติเมตร หยอดเมล็ดหลุมละ 2-3 ต้น ความลึกประมาณ 2-3 เซนติเมตร ซึ่งจะใช้เมล็ด 3-5 กิโลกรัม/ไร่
2. การปลูกแบบโรยเป็นแถว วิธีนี้เป็นการปลูกบนคันร่องเช่นกัน ด้วยการเปิดร่องตามแนวยาวบนคันร่อง ระยะระหว่างร่อง 50 เซนติเมตร ทำการโรยเมล็ดลงในร่อง 10-15 เมล็ด ต่อระยะ 1 เมตร ความลึกประมาณ 2-3 เซนติเมตร ใช้เมล็ดประมาณ 5 กิโลกรัม/ไร่ ไม่ควรลึกมากกว่านี้เพราะเมล็ดจะงอกยาก หรืองอกแล้วอาจเน่าได้ ภายหลังจากโรยเมล็ดให้เกลี่ยดินด้านบนกลบตาม

การตรวจเช็คการงอก การปลูกซ่อม และการถอนแยก
โดยทั่วไปเมล็ดถั่วเขียวจะงอกภายใน 3-5 วัน หลังปลูก บางพื้นที่ เช่น ภาคเหนือที่ปลูกในช่วงอากาศหนาว เมล็ดอาจงอกช้าขึ้นประมาณ 4-7 วัน หลังปลูก บางหลุมหรือบางส่วนเมล็ดอาจไม่งอกจากสาเหตุของเมล็ดถูกทำลายจากแมลงหรือสัตว์หน้าดิน รวมถึงความชื้นหรือปลูกในระดับที่ลึกเกิน จึงจำเป็นต้องตรวจสอบการงอกของเมล็ดในแต่ละแถว หากหลุมหรือแนวเมล็ดที่ไม่งอกให้ทำการหยอดเมล็ดปลูกซ่อมแซมใหม่โดยเร็วเพื่อให้ต้นเกิดใหม่สามารถเก็บเกี่ยวได้พร้อมกับต้นอื่นๆ โดยไม่ควรปลูกซ่อมแซมภายหลังจาก 5 วัน หลังเมล็ดถั่วที่ปลูกครั้งแรกงอก ส่วนบางหลุมที่มีการหยอดเมล็ด และเมล็ดเกิดงอกมากกว่า 3 ต้น/หลุม ให้ทำการถอนต้นถั่วเขียวที่เล็กหรือไม่สมบูรณ์ทิ้ง โดยให้เหลือเพียง 2-3 ต้น/หลุม

การคลุกเชื้อไรโซเบียม และการให้ปุ๋ย
บางพื้นที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเจริญเติบโตมักใช้เมล็ดคลุกเชื้อเชื้อไรโซเบียมก่อนปลูก เพื่อให้เชื้อไรโซเบียมติดบริเวณรากถั่ว และสร้างปมสำหรับตึงธาตุอาหารไนโตรเจน โดยใช้เชื้อ 1 ถุง ขนาด 200 กรัม ต่อเมล็ดพันธุ์ 5 กิโลกรัม