เชียงราย – บอนสีจีนทะลักรับกระแสนิยมไทย..เผยแค่ 4 เดือนยอดนำเข้าบอนสีจากยูนนานผ่านเส้นทาง R3a สปป.ลาว เข้าชายแดนเชียงของ ปลอดแวต-ปลอดอากรตามข้อตกลงการค้าเสรี เพิ่มขึ้นถึง 40 เท่าตัว เฉลี่ยราคาต่อต้นแค่ 20 กว่าบาท

ด่านศุลกากรเชียงของ จ.เชียงราย ด่านชายแดนบนแนวเส้นทาง R3a เชื่อมจีน-สปป.ลาว-ไทย แจ้งว่าเริ่มมีสินค้าประเภทบอนสีนำเข้ามาจากมณฑลยูนนาน สป.จีน ผ่านทางถนน R3a เข้าทาง อ.เชียงของ ครั้งแรกเดือน มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่า 399,750.13 บาท ปริมาณ 14,700 ต้น มูลค่าต่อต้น 27.19 บาท

จากนั้นการนำเข้าบอนสีจากจีนก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เดือน ก.ค.มูลค่า 1,245,752 บาท ปริมาณ 40,302 ต้น มูลค่าต่อต้น 30.91 บาท เดือน ส.ค.มูลค่า 3,566,143.97 บาท ปริมาณ 108,412 ต้น มูลค่าต่อต้น 32.89 บาท และเดือน ก.ย.นำเข้าเพิ่มเป็นมูลค่า 17,004,145.46 บาท ปริมาณ 792,316 ต้น มูลค่าต่อต้น 21.46 บาท

เป็นที่น่าสังเกตว่าก่อนหน้านี้เอกชนจีนไม่เคยนำเข้าสินค้าประเภทบอนสีที่เป็นพืชอยู่ในพิกัด 0602.90.90 ตามข้อตกลงการค้าเสรีไทย-จีน ที่มีอัตราอากรเป็น 0% หรือปลอดภาษี รวมทั้งยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ผ่านทาง อ.เชียงของ มาก่อนเลย

กระทั่งกระแสความนิยมบอนสี ตลอดจนพืชใบด่างในไทยมีมากขึ้น และหลังจากเริ่มนำเข้าก็มีปริมาณสูงขึ้นต่อเนื่องจนถึงเดือนล่าสุดมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 40 กว่าเท่าตัว รวมการนำเข้าตลอดทั้ง 4 เดือนดังกล่าวมีมูลค่ารวม 22,215,791.56 บาท ปริมาณรวม 955,730 ต้น มูลค่าเฉลี่ยต้นละประมาณ 23.24 บาท

ขณะที่ร้านไม้ดอกไม้ประดับเชียงราย ทั้งในกาดไม้ค่ายเม็งรายมหาราช ตลาดศิริกรณ์ ฯลฯ มีการขายบอนสีตั้งแต่ต้นละ 100-200 บาทขึ้นไปจนถึงหลักหลายพันบาท แล้วแต่ชนิดและสายพันธุ์รวมทั้งอายุ โดยเฉพาะต้นที่มีใบด่าง ซึ่งกำลังนิยมกันอยู่ภายในประเทศไทยอยู่แล้วจะมีการซื้อขายกันในราคาแพง มูลค่าต่อต้นเพิ่มขึ้นกว่าราคานำเข้าที่ชายแดน อ.เชียงของหลายเท่าตัว

ด้านนายอนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การค้าชายแดนด้านเชียงรายมีศักยภาพทั้งทางบกและทางเรือแม่น้ำโขง แม้ว่าจะมีสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แต่การค้าก็ยังคงมีพัฒนาการและสีสันอย่างต่อเนื่อง โดยกรณีของสินค้าประเภทพืชไม้ดอกไม้ประดับดังกล่าวที่กำลังเป็นกระแสที่นิยมในไทย

เมื่อเกิดความต้องการภายในตลาดมากจึงทำให้ผู้ผลิตและจำหน่ายแสวงหาตลาด โดยเฉพาะในพื้นที่จีนตอนใต้มีการปลูกพืชต่างๆ มากมาย และมีการนำเข้ามายังประเทศไทยผ่านถนน R3a ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับสินค้าผักและผลไม้รวมถึงสินค้าอื่นๆ ของไทยที่ส่งออกผ่าน สปป.ลาว ไป สป.จีน เช่นกัน จึงเป็นช่องทางของผู้ค้าที่จะนำเข้าสินค้าประเภทนี้เพื่อสนองความนิยมของตลาดไทย และหากกระแสนิยมไม่ตกลงก็คาดว่าคงจะมีการนำเข้าต่อไปอีก ดังนั้น ผู้ค้า ผู้บริโภค และผู้ปลูกพืชเหล่านี้ในประเทศคงต้องศึกษาข้อมูลเพื่อปรับตัวรองรับการค้าเสรีไทย-จีนดังกล่าวต่อไป

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์