จันทบุรี ยกระดับ ชี้ โควิด ยังระบาดในกลุ่มการมั่วสุมดื่มสุรา สั่งห้ามจำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน เหล้า เบียร์ ทุกประเภท ในร้านทุกประเภท ไม่เว้นห้างร้าน

เมื่อวันที่ 7 ต.ค.64 นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ในฐานะ ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดจันทรบุรี ลงนามในคำสั่งจังหวัด ที่ 3284/2564 เรื่อง ห้ามจำหน่าย จ่าย แจก หรือแลกเปลี่ยน สุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกประเภท

โดยระบุว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรียังพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่องและยังไม่มีแนวโน้มลดลง โดยพบการแพร่ระบาดในกลุ่มผู้ร่วมจัดเลี้ยงสังสรรค์ในงานประเพณี และพิธีการต่าง ๆ รวมถึงพบการระบาดในกลุ่มตั้งวงดื่มสุราเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ในสถานที่ทำงาน เคหสถาน หรือสถานที่ต่าง ๆ พฤติการณ์ดังกล่าวทำให้พบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนจำนวนมากและยังไม่สามารถควบคุมโรคได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบการบริการสาธารณสุข การดำเนินชีวิต และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมเพื่อเป็นการควบคุมและระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากพฤติการณ์ดังกล่าว

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 และมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ข้อ 7 (1) ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 ข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 30) ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2564 และข้อกำหนดๆ (ฉบับที่ 34) ลงวันที่ 28กันยายน 2564 ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อ จังหวัดจันทบุรี ในการประชุม ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 จึงยกเลิกความในข้อ 1.1 (1) ของคำสั่งจังหวัดจันทบุรี ที่ 2629/2564 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2564 โดยให้ถือปฏิบัติตามมาตรการ ดังนี้

ข้อ1 ห้ามจำหน่าย จ่าย แจก หรือแลกเปลี่ยน สุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกประเภท
ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ร้านค้าทั่วไป ร้านขายของชำ ร้านสะดวกซื้อ หรือกิจการที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านอาหารที่ดำเนินการในลักษณะที่เป็นรถเข็น หาบเร่ แผงลอย หรือร้านอาหารที่มีลักษณะอื่นใดในทำนองเดียวกัน รวมทั้งมั่วสุมกันเพื่อการจำหน่าย จ่าย แจก หรือแลกเปลี่ยนเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกประเภท ในบริเวณสถานที่สาธารณะ ในเคหสถาน หรือสถานที่อื่นใด

ข้อ 2 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง
เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด และให้นายอำเภอมอบหมาย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตรวจตราสอดส่องการดำเนินการ ในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน หากพบว่ามีการฝ่าฝืนให้ดำเนินการตามกฎหมาย หรือแจ้งนายอำเภอ ตำรวจ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย หรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และอาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. ถึง วันที่ 31 ต.ค.2564 เป็นต้นไป

ที่มา khaosod