น้ำท่วม น้ำมันแพง โควิดคุมไม่อยู่ ปัจจัยลบฉุดความเชื่อมั่น หอการค้าจับตาเลือกตั้งอบต.เงินสะพัด 2-3 หมื่นล้าน หวังกระตุ้นเศรษฐกิจโค้งสุดท้าย
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2564 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เผยผลสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 23-30 ก.ย. พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนก.ย. 2564 ดัชนีมีการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 มาอยู่ที่ระดับ 19.4 ลดลงจากในเดือนส.ค. ที่ระดับ 19.8 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 33 เดือน และปรับตัวลดลงในทุกภาค ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยอดผู้ติดเชื้อยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจ สถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัด ที่สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงผลผลิตทางการเกษตร ความกังวลด้านเศรษฐกิจยังชะลอตัวลง ปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมถึงผู้ประกอบการยังรู้สึกว่ารายได้จากการทำธุรกิจในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่ปรับตัวสูงขึ้น ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น
เห็นได้ว่าปัจจัยลบที่กระแทกกับผู้ประกอบการอย่างชัดเจนคือ กำลังซื้อที่ลดลงของผู้บริโภค จนขาดสภาพคล่อง ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยทุกภาคทุกจังหวัดลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 นับตั้งแต่เดือนมี.ค.2564 เป็นต้นมา
ในมุมมองของผู้ประกอบการ มองว่าปัญหาน้ำท่วมคือปัจจัยลบหลัก ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะอยู่ที่ 15,000-25,000 ล้านบาท หรือ เฉลี่ย 20,000 ล้านบาท จากเดิมที่ประเมินว่า ความเสียหายจากน้ำท่วมจะอยู่ที่ 15,000 ล้านบาท เนื่องจากผลกระทบขยายวงกว้างและยาวนานมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 ลดลง 0.5-0.7% และมีโอกาสติดลบได้เพราะสถานการณ์ยังไม่นิ่ง ขณะเดียวกันราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นก็ส่งผลต่อราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น และการระบาดของโควิดที่ยังไม่คลี่คลาย มองว่าจะมีผลกับภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศในปีนี้ ทำให้มีโอกาสขยายตัวติดลบ
นายธนวรรธน์ กล่าว กล่าวว่า ต้องรอดูว่าในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน โดยมองว่าการหาเสียงของอบต. จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ที่ 20,000-30,000 ล้านบาท น่าจะผลักสถานการณ์เศรษฐกิจได้ในช่วงปลายเดือนต.ค.จนถึงปลายเดือนพ.ย.
รวมถึงรัฐบาลยังต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งการอัดฉีดเม็ดเงินงบประมาณ การเปิดประเทศและดูแลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้อยู่ในระดับต่ำ สร้างสมดุลระหว่างการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจกับการดูแลด้านสาธารณสุขให้ได้ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจของประเทศตกอยู่ในภาวะ ชะลอตัวแบบซึมลึกเพราะจะยิ่งทำให้ฟื้นตัวยากขึ้น
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมที่ชัดเจน ทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาอัดฉีดในระบบมากขึ้น เศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสจะโตได้ 1-1.5% แต่หากน้ำท่วมไม่คลี่คลาย การคลายล็อกดาวน์และการ เปิดประเทศไม่ต่อเนื่อง เศรษฐกิจอาจจะโตได้แค่ 0-1% ซึ่งต้องติดตามดูสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
ที่มา khaosod