ซีรีส์เกาหลีใต้เรื่อง Squid Game หรือ “สควิดเกม เล่นลุ้นตาย” ขึ้นแท่นหนึ่งในซีรีส์ยอดนิยมสูงสุดของเน็ตฟลิกซ์ โดยในช่วงต้นเดือน ต.ค. มันคือซีรีส์ที่มีผู้ชมสูงสุดใน 90 ประเทศ และยังประสบความสำเร็จในการตีแผ่ให้โลกได้เห็นถึงสภาพความเป็นจริงในสังคมที่ซับซ้อนของเกาหลีใต้
นอกจากเนื้อเรื่องที่ชวนให้ติดตามของเหล่าตัวละครที่มีหนี้ท่วมหัว และตัดสินใจร่วมแข่งขันในเกมท้าความตาย เพื่อช่วงชิงเงินรางวัลก้อนโตที่จะพลิกชีวิตพวกเขา แต่ซีรีส์เรื่องนี้ก็ยังได้รับเสียงชื่นชมจากการตีแผ่ประเด็นปัญหาจริงที่ส่งผลต่อชีวิตของผู้คนในสังคมเกาหลีใต้
ซีรีส์เรื่องนี้ตามรอยภาพยนตร์ดีกรีออสการ์เรื่อง Parasite หรือ “ชนชั้นปรสิต” ที่พูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมเกาหลีใต้ และนี่คือปัญหาทางสังคมที่ถูกหยิบยกมานำเสนอในซีรีส์ฮิตเรื่องนี้
คำเตือน : บทความนี้มีเนื้อหาที่เปิดเผยเนื้อเรื่องบางส่วนในซีรีส์
ความเกลียดชังผู้หญิง
ในรายงานว่าด้วยช่องว่างระหว่างเพศโลก (Global Gender Gap) ปี 2021 ของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ได้จัดให้เกาหลีใต้อยู่ในอันดับที่ 102 ของประเทศที่มีความเท่าเทียมทางเพศมากที่สุด
Squid Game ได้สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมนี้ ผ่านบทสนทนาของตัวละครซึ่งมองว่าผู้หญิงไม่เหมาะสมที่จะเลือกให้ร่วมทำภารกิจในเกมด้วย เช่น การที่ตัวละครที่ชื่อ โจ ซัง-อู พยายามหลายครั้งที่จะกีดกันไม่ให้ผู้แข่งขันหญิงเข้าร่วมทีมด้วย
ขณะเดียวกัน ซีรีส์เรื่องนี้ก็ถูกวิจารณ์เรื่องการนำเสนอบทบาทของผู้หญิง โดยเฉพาะการที่ตัวละครหญิงที่ชื่อ ฮัน มี-นยอ ที่ยอมมีความสัมพันธ์ทางเพศกับนักเลงหัวไม้ จัง ด็อก-ซู เพื่อให้ได้เข้าร่วมทีมของเขา
ก่อนหน้านี้ ฮวัง ดง-ฮยอก ผู้กำกับและเขียนบท Squid Game ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาทางโซเชียลมีเดียเรื่องความเกลียดชังต่อผู้หญิง โดยเขาชี้แจงเรื่องนี้ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ฮันกุก อิลโบ ว่าเขาจินตนาการถึงปฏิกิริยาของตัวละคร “เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด”
ชะตากรรมเลวร้ายของผู้แปรพักตร์เกาหลีเหนือ
Squid Game ยังตีแผ่ประเด็นของผู้แปรพักตร์ชาวเกาหลีเหนือ โดยตัวละครหญิงที่ชื่อ คัง แซ-บย็อก (รับบทโดยนางแบบสาว จอง โฮ-ยอน) เข้าร่วมการแข่งขันสุดโหดนี้ด้วยความหวังจะคว้าเงินรางวัลเพื่อให้ครอบครัวได้กลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้ง หลังต้องพลัดพรากจากกันไปขณะหลบหนีออกจากเกาหลีเหนือ
ก่อนที่โควิด-19 จะแพร่ระบาดใหญ่ มีชาวเกาหลีเหนือลี้ภัยเข้าไปอยู่ในเกาหลีใต้ปีละกว่าหนึ่งพันคน และแม้ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้จะมีโครงการช่วยเหลือให้ผู้แปรพักตร์เหล่านี้มากมาย แต่พวกเขาก็ยังต้องเผชิญการปฏิบัติอย่างโหดร้าย การเลือกปฏิบัติ และความเคลือบแคลงใจจากชาวเกาหลีใต้
Squid Game ได้เผยให้เห็นแง่มุมนี้ที่ผู้แปรพักตร์บางส่วนต้องเผชิญ ซึ่งรวมถึงการที่ตัวของ แซ-บย็อก พยายามซ่อนสำเนียงการพูดแบบชาวเกาหลีเหนือ แล้วพูดด้วยสำเนียงคนกรุงโซล แต่จะเก็บสำเนียงบ้านเกิดตัวเองไว้เฉพาะเวลาที่พูดคุยกับน้องชายที่อยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า
ความยากจน
หลายคนอาจแปลกใจ หากต้องพูดคุยถึงเรื่องความยากจนในเกาหลีใต้ เพราะองค์การสหประชาชาติ ได้จัดให้ประเทศนี้อยู่ในอันดับที่ 23 ในดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index) ซึ่งบ่งชี้ถึงคุณภาพชีวิตของพลเมือง แซงหน้าชาติตะวันตกอย่าง ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน
ทว่าซีรีส์เรื่องนี้ ได้นำเสนอเรื่องราวของตัวละครเอกที่ชื่อ ซอง กี-ฮุน ที่เป็นคนตกงาน ทำธุรกิจล้มเหลว มีหนี้สินรุงรัง และต้องอาศัยอยู่กับแม่ผู้แก่ชรา ไม่มีแม้แต่เงินจะซื้อของขวัญวันเกิดให้ลูกสาว
เรื่องราวของเขาสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตของคนงานที่ล้มเหลว และไม่สามารถพาตัวเองหลุดพ้นจากความยากจนได้
ข้อมูลจากดัชนีจีนี (Gini Index) ซึ่งชี้วัดการกระจายความร่ำรวยของประชากรในชาติบ่งชี้ว่า เกาหลีใต้มีผลลัพธ์ดีกว่าประเทศกลุ่มนอร์ดิกบางประเทศ หรือแม้สหรัฐฯ ด้วย แล้วทำไมประเด็นนี้จึงถูกหยิบยกมานำเสนอในซีรีส์เรื่องนี้
นี่อาจเป็นเพราะเกาหลีใต้กำลังเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เพิ่มขึ้น โดยผู้มีรายได้สูงสุดของประเทศจำนวน 20% นั้น มีความมั่งคั่งสุทธิมากกว่า 166 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มคนรายได้ต่ำสุดในประเทศ 20%
ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) เผยให้เห็นว่า ก่อนจะเกิดวิกฤตโควิด เกือบ 17% ของประชากรจำนวนกว่า 51 ล้านคนของเกาหลีใต้มีชีวิตอยู่อย่างยากจน
คนเหล่านี้มักอาศัยอยู่ในที่พักขนาดเล็กที่เรียกว่า โกชีเทล (Goshitel) หรือ โกชีวอน (Goshiwon) ซึ่งบางแห่งมีความกว้างไม่ถึง 2 เมตร และหลายครอบครัวอาจมีสมาชิกแออัดอยู่ด้วยกันหลายคน
แม้แต่คนที่มีฐานะดีกว่าก็ต้องเผชิญความยากลำบากเช่นกัน เพราะหนี้สาธารณะของเกาหลีใต้ในปัจจุบันมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งถือเป็นอัตราสูงที่สุดในทวีปเอเชีย
การหาประโยชน์จากผู้อพยพ
หนึ่งในตัวละครโดดเด่นที่สุดในเรื่อง Squid Game ที่ชื่อ อาลี เป็นผู้อพยพชาวปากีสถานที่ทำงานในโรงงาน และต้องเข้าร่วมการแข่งขันนี้ เพราะนายจ้างชาวเกาหลีใต้ไม่ยอมจ่ายเงินเดือนที่ค้างอยู่หลายงวดให้แก่เขา
แม้ชาวปากีสถานจะไม่ใช่แรงงานต่างด้าวกลุ่มใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ แต่เรื่องราวของอาลีก็เน้นให้เห็นถึงชีวิตที่ต้องทำงานหนัก และการถูกเอารัดเอาเปรียบที่แรงงานต่างชาติต้องเผชิญในประเทศนี้
องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า แม้ทางการเกาหลีใต้ได้ออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานหลายฉบับในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่สภาพการทำงานของแรงงานต่างด้าวก็ยังไม่ดีนัก
ระบบพวกพ้องในบริษัทและการเมือง
หนึ่งในตัวละครเอกของ Squid Game ที่ชื่อ โจ ซัง-อู เป็นหัวหน้าทีมการลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์ ที่ต้องเข้าร่วมการแข่งขันเสี่ยงตาย เพราะชีวิตตกอับ หลังจากถูกจับได้ว่ายักยอกเงินบริษัท
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้มีเรื่องอื้อฉาวมากมายกับบุคคลมีชื่อเสียงในแวดวงธุรกิจ และการเมือง ซึ่งรวมถึงกรณีสอบสวนเรื่องการทุจริตในปี 2016 ที่ทำให้ พัค กึน-ฮเย ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้ต้องพ้นจากตำแหน่ง จากข้อกล่าวหาเรื่องการใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง
ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนกับจีน
Squid Game มีเนื้อหาที่เอ่ยถึงจีนเพียงครั้งเดียว คือการเป็นพันธมิตรกับเกาหลีเหนือ ซึ่งแม่ของผู้แข่งขันหญิงที่ชื่อ แซ-บย็อก ถูกควบคุมตัวขณะพยายามเดินทางเข้าเกาหลีใต้ผ่านทางจีนแผ่นดินใหญ่
ซีรีส์เรื่องนี้ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่เผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างจีนกับเกาหลีใต้ โดยสื่อทางการจีนรายงานว่าชุดสีเขียวที่ผู้แข่งขันใส่ในเรื่อง ดูเหมือนกับชุดของตัวละครในภาพยนตร์จีนเรื่อง Teacher, Like ที่ออกฉายในปี 2019
เรื่องดังกล่าวได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนในโลกโซเชียลมีเดีย และแม้ว่าเน็ตฟลิกซ์จะถูกปิดกั้นในจีน แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งผู้ชมที่อยากดูผ่านทางบริการถ่ายทอดผิดกฎหมายได้ อีกทั้งทำให้มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Squid Game เกิดขึ้นตามมามากมาย ทั้งร้านอาหารที่มีธีม Squid Game รวมทั้งธุรกิจเสื้อผ้าแบบที่ตัวละครสวมใส่ และร้านขายขนมน้ำตาลเคี่ยวที่เรียกว่า “ทัลโกนา” (Dalgona)
ส่วนเกาหลีเหนือ วิจารณ์ละครเรื่องนี้ผ่านเว็บไซต์ของรัฐบาลชื่อ Arirang Meari ว่า Squid Game เผยให้เห็นถึง “ความจริงอันน่าเศร้าของสังคมเกาหลีใต้ที่น่ารังเกียจ” พร้อมชี้ว่า ผู้คน “ถูกผลักดันสู่การแข่งขันอันสุดขั้ว ความเป็นมนุษย์ของพวกเขาได้ถูกขจัดไปจนหมดสิ้น ขณะที่การทุจริต และคนไร้ศีลธรรมก็มีอย่างดาษดื่น”
ทั้งนี้ เกาหลีเหนือมีบทลงโทษรุนแรงต่อประชาชนที่เสพสื่อและพูดจาเลียนแบบชาวเกาหลีใต้
…………
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว
ขอบคุณข้อมูลจาก ข่าวสด