บิ๊กป๊อก สั่งการ 14 จังหวัดใต้ -เพชรบุรี-ประจวบฯ เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม คลื่นลมแรงช่วงปลายต.ค.
เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2564 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าช่วงปลายเดือนต.ค. ร่องความกดอากาศต่ำที่พาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออก จะเลื่อนลงไปพาดผ่านบริเวณภาคใต้และอ่าวไทย
ทำให้ภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่น และอาจมีพายุหมุนเขตร้อนเข้ามาใกล้ประเทศไทย และต่อเนื่องลงมาจนถึงอ่าวไทยตอนบนและภาคใต้ได้ ส่งผลให้บริเวณภาคใต้มีฝนตกเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในบางพื้นที่
เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดในขึ้นพื้นที่ภาคใต้ บกปภ.ช. จึงแจ้งให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ จ.เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ เฝ้าระวังติดตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยประสบอุทกภัย น้ำท่วมขัง และดินโคลนถล่ม หรือมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบในกรณีมีฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ เช่น พื้นที่เขตเศรษฐกิจ พื้นที่ท้ายเขื่อน อ่างเก็บน้ำและฝายที่มีปริมาณน้ำมาก และพื้นที่เชิงเขา เพื่อประเมินสถานการณ์และวิเคราะห์คาดการณ์แนวโน้มผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เพื่อวางแผนปฏิบัติการและแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวต่อว่า ให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ติดตามสถานการณ์และการแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานราชการ รวมถึงให้มุ่งเน้นการสร้างการรับรู้ โดยใช้กลไกของฝ่ายปกครองกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และอาสาสมัครเครือข่ายแจ้งเตือนภัยเชื่อมโยงการแจ้งเตือนภัยในทุกรูปแบบ ทั้งหอเตือนภัย หอกระจายข่าว รถประชาสัมพันธ์ วิทยุชุมชน และสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์ในพื้นที่ แนวทางปฏิบัติ และช่องทางการติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ
สำหรับพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลและสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ให้ดูแลความปลอดภัยและกำหนดมาตรการแจ้งเตือนภัยในพื้นที่ โดยให้ฝ่ายปกครองและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำชับสถานประกอบการ โรงแรม แจ้งเตือนนักท่องเที่ยวให้เพิ่มความระมัดระวังในช่วงที่มีคลื่นลมแรง พร้อมทั้งประสานการปฏิบัติกับกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจน้ำในพื้นที่ ดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด โดยเฉพาะการนําเรือเข้าที่กําบังและห้ามการเดินเรือช่วงที่มีคลื่นลมแรง
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ได้กำชับให้จังหวัดดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัยในแต่ละพื้นที่ แบ่งมอบภารกิจ พื้นที่ และหน่วยงานรับผิดชอบให้ชัดเจน พร้อมทั้งจัดกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ เครื่องมืออุปกรณ์เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เข้าประจำจุดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยไว้ล่วงหน้า เพื่อให้เผชิญเหตุ แก้ไขปัญหา และให้การช่วยเหลือประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง
เมื่อเกิดเหตุในพื้นที่ ให้จัดชุดปฏิบัติการสนธิกำลังร่วมกับหน่วยทหาร ตำรวจ มูลนิธิ อาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เร่งคลี่คลายสถานการณ์และดูแลประชาชนในด้านต่าง ๆ อาทิ การดูแลด้านการดำรงชีพ ความเป็นอยู่ จัดตั้งโรงครัวพระราชทาน การแจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบ การดูแลความปลอดภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงในพื้นที่ให้อพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัยหรือศูนย์พักพิงที่จัดเตรียมไว้โดยทันที โดยดำเนินการควบคู่กับมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ในการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามข่าวสารและการแจ้งเตือนภัยจากทางราชการอย่างใกล้ชิด หากมีประกาศหรือคำเตือนขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด หากพบเห็นหรือได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และแอพพลิเคชัน “พ้นภัย” หรือทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชม. เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป
ที่มา khaosod