โคราช เตรียมรับพายุลูกใหม่ เริ่มระบายน้ำ เขื่อนลำตะคอง 4 เขื่อนใหญ่ 18 อ่างขนาดกลางน้ำเกินความจุ เตือน 11 อำเภอ เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง

เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 25 ต.ค.2564 ที่อาคารระบายน้ำ เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เจ้าหน้าที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง สำนักงานชลประทานที่ 8 (ชป.8) นครราชสีมา ได้เริ่มปฏิบัติการระบายน้ำลงสู่ลำตะคองตอนล่าง อัตราวันละ 86,400 ลบ.เมตร สถานการณ์ล่าสุดมีปริมาณน้ำ 331.546 ล้าน ลบ.เมตร หรือ 105.42 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ความจุ และสามารถรองรับน้ำได้อีกประมาณ 50 ล้าน ลบ.เมตร

ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ที่อยู่ในการดูแลรับผิดชอบของ ชป.8 นครราชสีมา เขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี 271 ล้าน.ลบ.เมตร หรือ 99 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เก็บกัก 275 ล้าน.ลบ.เมตร, เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย 154 ล้าน.ลบ.เมตร หรือ 99.77 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เก็บกัก 155 ล้าน.ลบ.เมตร และ เขื่อนลำมูลบน อ.ครบุรี 146.347 ล้าน.ลบ.เมตร หรือ 104 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เก็บกัก 141 ล้าน ลบ.เมตร

โคราช เตรียมรับพายุลูกใหม่ เริ่มระบายน้ำ เขื่อนลำตะคอง 4 เขื่อนใหญ่ 18 อ่างขนาดกลางน้ำเกินความจุ

ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 แห่ง มีจำนวน 18 อ่าง มีปริมาณน้ำเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ และ 3 อ่าง มีปริมาณน้ำเกิน 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอ่างลำเชียงไกรตอนล่าง อ.โนนไทย มีน้ำ 65.21 เปอร์เซ็นต์ อ่างเก็บน้ำบึงกระโดน อ.ประทาย 23 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เก็บกัก

ทั้งนี้ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา ในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยจังหวัดนครราชสีมา ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วาระสำคัญกรณีการพยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้าของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ในช่วงวันที่ 27-28 ต.ค.นี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่กับมีฝนตกหนักถึงหนักมาก

จึงจำเป็นต้องระบายน้ำออกจากเขื่อนลำตะคอง อัตราวันละ 1-1.5 ล้าน ลบ.เมตร ตั้งแต่บัดนี้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบพื้นที่ท้ายเขื่อนลำตะคองและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้ดำเนินการ ดังนี้

1.พื้นที่ลำตะคองตอนล่าง อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.เมือง เขตเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.จักราช อ.โนนสูง อ.พิมาย อ.ชุมพวง อ.ลำทะเมนชัย และอ.เมืองยาง แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่สองฝั่งริมน้ำอาจได้รับผลกระพบให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำอยู่ในภาวะเฝ้าระวังระดับการแจ้งเตือนสีน้ำเงิน โดยให้ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดและให้เจ้าหน้าที่ เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

2.จัดเวรเฝ้าระวังประจำตามจุดเสี่ยง เพื่อประเมินสถานการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน หาบพบก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินให้อพยพประชาชนไปยังจุดอพยพที่ได้จัดเตรียมไว้ทันที

3.ให้ความสำคัญการแจ้งให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่เสี่ยงรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึงและให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการอย่างใกล้ชิด

4.ประสานบูรณาการหน่วยงานภาครัฐเครือข่ายภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และประชาชนจิตอาสาภัยพิบัติในพื้นที่เตรียมความพร้อมทรัพยากร เครื่องจักรกลสาธารณภัยและกำลังพลให้มีความพร้อมปฏิบัติงานตามแผนเผชิญเหตุฯ และการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง

5.รายงานสถานการณ์และผลดำเนินการให้กองอำนวยการป้องกันและบรเทาสาธารณภัยทราบทันทีจนกว่าสถานการณ์จะสิ้นสุด

ที่มา khaosod