เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 พ.ย.64 กลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงชายฝั่ง รวมตัวกันร้องสื่อมวลชน ถึงความเดือดร้อนที่ได้รับ จากการเร่งระบายน้ำจืดของหน่วยงานภาครัฐออกสู่ทะเล เป็นเหตุให้สัตว์น้ำที่เลี้ยงไว้ ตายยกบ่อ กว่า 4 พันไร่ เสียหายกว่า 20 ล้านบาท มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 140 ราย แต่ยังไร้หน่วยงานเหลียวแล เข้าให้การช่วยเหลือ หลังรับแจ้งผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปยังซอยวัดสร่างโศก ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ไปถึงพบกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงชายฝั่งจำนวนมาก กำลังพูดคุยถึงปัญหาความเดือดร้อนที่ได้รับ รวมทั้งกลุ่มเกษตรกร ได้พาผู้สื่อข่าวไปยังบ่อเลี้ยงหอยแครงที่อยู่ใกล้ๆ เพื่อพาไปดูร่องรอยความเสียหาย พบเศษซากหอยกองใหญ่อยู่ข้างบ่อด้วย

นายเรืองศักดิ์ อุ่นบางหลวง อายุ 62 ปี ชาวบ้าน หมู่ 10 ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เจ้าของบ่อหอยแครง กล่าวว่า เมื่อประมาณเดือน มิ.ย.2564 จังหวัดภาคกลางตอนบนและภาคอีสาน เกิดอุทกภัยน้ำท่วม รัฐบาลสั่งการให้เร่งระบายน้ำจืดออกสู่ทะเลที่ จ.สมุทรปราการ ได้มีการประกาศพื้นที่ตามแนวชายทะเลที่ติดกับถนนสุขุมวิทบางส่วน เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ แต่มีความเสียหายเกิดขึ้นทั้ง ต.คลองด่าน ตนและกลุ่มเกษตรกรชายฝั่ง รวมทั้งหมด 140 ราย ส่วนใหญ่เลี้ยงหอยแครง กุ้ง ปู ปลา ได้รับผลกระทบโดยตรง น้ำจืดไหลเข้าบ่อเลี้ยงหอยแครง ทำให้หอยตายยกบ่อ แต่ตนและกลุ่มเกษตรกรฯ เข้าใจถึงสถานการณ์ความเดือดร้อนของพี่น้องคนไทยด้วยกัน จึงยอมให้หน่วยงานภาครัฐเร่งระบายน้ำจืดออกสู่ทะเล

เจ้าของบ่อหอยแครงที่ได้รับผลกระทบ กล่าวต่อว่า หลังจากปัญหาน้ำท่วมคลี่คลายลง แต่กลุ่มเกษตรกรชายฝั่ง ต.คลองด่าน 140 ราย ได้รับเงินชดเชยฯ เพียงบางส่วน คือ หมู่ 5, 10, 11 และ 12 ที่เหลืออีกจำนวน 10 หมู่ (หมู่ 1,2,3,4,6,7,8,9,13,14) ยังไม่ได้รับการดูแลเรื่องชดเชยเยียวยาตามระเบียบทางราชการที่ควรจะเป็น วันนี้จึงได้มารวมตัวกันเพื่อร้องผ่านสื่อฯ ขอความเป็นธรรม ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ จ.สมุทรปราการ ขอให้ช่วยลงพื้นที่มาดูแลประชาชนด้วย ตอนนี้เดือดร้อนกันมาก น้ำทะเลเริ่มมีคุณภาพดีขึ้น สามารถจะทำการประมงชายฝั่งได้เหมือนเดิม แต่กลุ่มเกษตรกรไม่เหลือเงินที่จะไปลงทุนประกอบอาชีพแล้ว จึงวอนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กลุ่มเกษตรกรด่วน

นายเรืองศักดิ์ กล่าวอีกว่า ช่วงที่ภาครัฐระบายน้ำออกมา เกษตรกร จำเป็นต้องเปิดให้น้ำทะเลที่มีน้ำจืดผสมอยู่มากไหลเข้าบ่อเลี้ยงหอยนั้น ทั้งๆ ที่รู้ว่าจะต้องเสียหายแน่นอน แต่จำเป็นต้องเปิดให้เข้า เพราะถ้าหากไม่เปิดฯ จะส่งผลเสียทำให้คันดินของบ่อเกิดการพังได้รับความเสียหายหนักกว่าเดิม เนื่องจากน้ำในบ่อมีปริมาณน้อยกว่าน้ำนอกบ่อ จะทำให้เกิดแรงดันอย่างมาก จนคันดินพังลงได้

น.ส.นกเอี้ยง กิมยงค์ อายุ 54 ปี กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรชายฝั่ง ต.คลองด่าน จดทะเบียนถูกต้องกับเกษตรอำเภอบางบ่อ ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาความเดือดร้อน ก็ควรจะได้รับการดูแลตามกฎหมาย ในส่วนของเงินชดเชยเยียวยานั้น ที่รู้มา เกษตรกร 1 รายจะได้รับเงินชดเชยฯ ประมาณ 5 หมื่นบาทเท่านั้น ไม่ว่าจะมีพื้นที่ทำการเกษตรมากเท่าไรก็ตาม

ที่มา : thairath