“วราวุธ” วอนใช้วัสดุไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ห่วงปัญหากระทงตกค้าง“กรมทะเล” เตรียมกำลังเก็บกระทงก่อนลงทะเล
ประเพณีลอยกระทงนับเป็นประเพณีที่มีชื่อเสียงและได้รับความสนใจจากนานาประเทศ หลายคนเฝ้ารอวันนี้เพื่อร่วมประเพณีอย่างมีความสุข แต่ปัญหาใหญ่หลังการลอยกระทงผ่านไป คือ ปัญหาขยะตกค้างในแม่น้ำลำคลอง สิ่งแวดล้อม และสุดท้ายก็จะไหลลงสู่ทะเล ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แสดงความกังวลถึงปัญหาขยะตกค้างและวัสดุที่ใช้ในการทำกระทงที่ย่อยสลายยาก พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมกำลังเก็บกระทงหลังเสร็จสิ้นงานโดยเร็วเพื่อมิให้ส่งผลกระทบระยะยาว
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า วันนี้ (19 พฤศจิกายน) เป็นอีกวันที่พี่น้องคนไทยจะได้ร่วมประเพณีลอยกระทงที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งช่วงที่ตนรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตนพยายามรณรงค์มาโดยตลอดในการอนุรักษ์สืบสานประเพณีไทย ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะวันลอยกระทง ซึ่งปัญหาใหญ่หลังจากการลอยกระทง คือ ปัญหาขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อมและแม่น้ำลำคลอง และสุดท้าย คือ ลงสู่ทะเล ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญของปัญหาเป็นเรื่องของวัสดุที่ใช้ในการทำกระทง จากข้อมูลสถิติกระทงที่ลอยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ช่วง 10 ปี ย้อนหลัง
โดยศูนย์ข้อมูลกรุงเทพมหานคร รายงาน พบว่า กระทงที่ทำจากโฟมลดลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2555 ที่มีกระทงที่ทำจากโฟมจำนวน 131,338 ใบ ลดลงเหลือเพียง 17,731 ใบ ในปี 2563 ลดลงกว่าร้อยละ 86 อย่างไรก็ตาม จำนวนกระทงที่ลอยก็ลดลงกว่าร้อยละ 50 ตนอยากย้ำว่า “วัสดุที่ใช้ในการทำกระทงเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องตระหนักให้มาก โดยเฉพาะวัสดุประเภทโฟม ซึ่งใช้เวลากว่า 500 ปี ในการย่อยสลาย กระทงขนมปังลอยมากไปปลากินไม่ทัน น้ำเน่าเสีย เราควร Back to basic ใช้วัสดุธรรมชาติ น้อยแต่มาก เรียบแต่โก้ 1 ครอบครัว 1 กระทงก็เพียงพอ”
นอกจากนี้ ยุคสมัยนี้ยังมีการใช้วัสดุอื่น ๆ ทดแทนอีก ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ มันสำปะหลัง และน้ำแข็ง อีกทั้ง ยังมีการส่งเสริมให้ลอยกระทงออนไลน์อีกด้วย สำหรับเรื่องนี้ ตนได้ย้ำกับนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ช่วยกำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมควบคุมมลพิษ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ทำงานร่วมกับพื้นที่อย่างใกล้ชิด ทั้งการรณรงค์การใช้วัสดุที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และการเก็บกระทงตกค้างในสิ่งแวดล้อมภายหลังเสร็จสิ้นการลอยกระทงให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ได้เกิดการตกค้างและเน่าเสียในแม่น้ำและในทะเลด้วย สุดท้าย ตนอยากฝากถึงพี่น้องประชาชนทุกคน “หัวใจของประเพณีลอยกระทง คือ การตระหนักถึงความสำคัญของแม่น้ำที่เปรียบเสมือนแหล่งหล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์และสรรพสัตว์ โดยใช้กระทงเป็นตัวแทนสื่อสาร มิใช่เครื่องทำลายคุณภาพและความงดงามของธรรมชาติ เราควรอนุรักษ์วัฒนธรรมให้ยังคงอยู่ คู่สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน”
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเสริมว่า พื้นที่ทางทะเลเป็นแหล่งรองรับขยะตกค้างที่พัดมากับแม่น้ำอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม กรมฯ ได้ติดตั้งทุ่นดักขยะลอยน้ำบริเวณปากแม่น้ำ ก่อนไหลลงสู่ทะเล สำหรับในช่วงประเพณีลอยกระทง ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 – 10 ได้เสริมกำลังเจ้าหน้าที่ในการเก็บกระทงที่ลอยมาติดบริเวณทุ่นดักขยะทันทีหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมลอยกระทง อีกทั้ง ยังได้สั่งการให้สนธิกำลังร่วมกับจังหวัดในการช่วยเก็บกระทงตกค้างในแม่น้ำและในทะเล เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและสัตว์ทะเลหายากบริเวณใกล้แนวชายฝั่ง และพื้นที่ป่าชายเลนที่มักพบเศษซากกระทงตกค้างอยู่เป็นประจำทุกปี อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ กรมฯ ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนที่ร่วมประเพณีลอยกระทงในพื้นที่รับผิดชอบ 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล เหมือนที่กระทำเป็นประจำทุกปี สุดท้าย ตนขอให้พี่น้องประชาชนทุกคนมีความสุขในช่วงเทศกาลลอยกระทง และช่วยกันดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้สวยงามและคงอยู่กับทุกคนเช่นนี้ ต่อไป
ที่มา : มติชน