“ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์” ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เปิดโปง ‘ประชามติอัปยศ’ ร่างรัฐธรรมนูญ 60 จับคนค้านไปขังคุก-ปิดตา เล่านาทีทหารเกือบครึ่งร้อยมาจับถึงบ้าน เพียงเพราะ “เห็นต่าง”
จากกรณี วันนี้ (17 พ.ย.) ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีนัดหมายลงมติใน วาระที่ 1 (ขั้นรับหลักการ) ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. ซึ่ง ตัวแทนกลุ่ม Re-solution และผู้ริเริ่มในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 135,247 คน เป็นผู้เสนอ
โดยผลปรากฎว่า ที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติไม่รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว มีแต่เพียง ส.ส.พรรคฝ่ายค้านเท่านั้น ที่รับหลักการร่าง รธน.ฉบับประชาชน ทำให้ร่างฉบับดังกล่าวตกไปตั้งแต่วาระแรก โดยหลังทราบผลคะแนนดังกล่าว พบว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง โดยเฉพาะ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว.ที่เป็นตัวตั้งตัวตี ในการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนี้
ต่อมา ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.เขต 1 พรรคเพื่อไทย อดีตผู้ต้องหาคดี ม.116 ฐานยุยงปลุกปั่นฯ เพราะรณรงค์ให้มีการ “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560” ในยุครัฐบาล คสช. ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก หลังมติที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา “ไม่รับหลักการ” ร่างดังกล่าว โดยได้เผยภาพขณะถูกทหารจับกุม และถูกจำคุกกว่า 1 เดือน ในชุดผู้ต้องขัง เหตุแจกจดหมายรณรงค์ไม่รับร่าง รัฐธรรมนูญ 2560 โดยระบุใจความสำคัญว่า หยุดอ้าง 16 ล้านเสียง ประชามติดังกล่าว คือประชามติอัปยศ อ้างความชอบธรรมให้รัฐธรรมนูญเผด็จการสืบทอดอำนาจ
จากนั้น พรรคเพื่อไทย โพสต์คลิปซึ่งเป็นบทสัมภาษณ์ของเขา โดยพร้อมข้อความอธิบายก่อนการรับชม ระบุว่า เปิดโปง “ประชามติอัปยศ”
“พี่เคยนั่งคิดในใจว่าฉันทำอะไรผิดวะ แล้วสิ่งที่ฉันทำไม่ผิดเลยนะ แล้วฉันลากใครมา พี่กับอีก 14 ชีวิตที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลยเป็นการไหว้วานกัน เขาถูกลากมาทำไม พี่คิดอย่างเดียวจริงๆ ว่า พี่น่าจะทำคนเดียว ทุกอย่างเลย”
ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.เชียงใหม่ เล่าถึงคดีจดหมายประชามติ 59 เธอถูกจับขึ้นศาลทหาร โดนขังในเรือนจำ เพียงเพราะเห็นต่างร่างรัฐธรรมนูญ 60 เธอถูกควบคุมตัวและบังคับปรับทัศนคติเป็นเวลา 7 วัน และอีก 23 วันในเรือนจำ หลังจากนั้น ทัศนีย์พร้อมคนรอบตัวจึงได้รับการประกันตัวจากการยื่นประกันครั้งที่ 4
หลังจากนั้นอีกถึง 4 ปี ในปี 2563 คดีทั้งหมดได้รับการยกฟ้อง ราวกับไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น
ขณะเดียวกันสิ่งที่เธอถูกกระทำต่างๆ โดนจับกุม คุมขังและถูกนำตัวส่งเข้าเรือนจำนั้นเกิดขึ้นจริง ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพกายและสภาวะจิตใจที่เปลี่ยนไปตลอดกาล โดยที่เธอไม่เคยได้รับการเยียวยาสักครั้งโดยผู้กระทำ
เหตุการณ์ทั้งหมดและผลกระทบที่เกิดกับ ‘ทัศนีย์’ และอีกหลายๆ คนที่ถูกกระทำในช่วงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ สะท้อนอย่างชัดเจนถึงความสำคัญของสิทธิการประกันตัวของนักโทษทางความคิดเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งและทุกคนควรได้รับสิทธิประกันตัวก่อนที่จะตัดสินคดี
ประชามติอัปยศ ต้องไม่มีนักโทษทางความคิด
ขอบคุณข้อมูลจาก ข่าวสด