จับตารัฐบาลใหม่เยอรมัน – เอเอฟพี รายงานว่า พรรคการเมืองในเยอรมนีบรรลุข้อตกลงจัดตั้งรัฐบาลผสมที่ใช้นโยบาย “กลางซ้าย” แล้ว เมื่อ 24 พ.ย. พร้อมกับที่ นางแองเกลา แมร์เคิล ยอดผู้นำหญิงแห่งเยอรมนี วัย 67 ปี จะลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงมานาน 16 ปี
รัฐบาลใหม่ประกอบด้วย พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democrats Party – SDP) พรรคกรีนส์ (Greens) และพรรคประชาธิปไตยเสรีนิยม (Free Democratic Party – FDP) โดยนายโอลาฟ โชลซ์ หัวหน้าพรรค SPD วัย 63 ปี จะได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
เบื้องต้นสามพรรคได้ข้อตกลงที่เห็นชอบร่วมกันว่ารัฐบาลใหม่จะไม่ก่อหนี้ใหม่เพิ่มอีกเพื่อรับวิกฤตโควิด-19 จากรัฐบาลเดิมที่ทุ่มไว้มากพอแล้ว (ราว 1 แสนล้านยูโร หรือ 3.7 ล้านล้านสำหรับงบประมาณปีหน้า เมื่อรวม 3 ปี 2520-2022 อยู่ที่ 4.7 แสนล้านยูโร หรือ 17.5 ล้านล้านบาท) ฉะนั้นจะต้องเหยียบเบรกหนี้ ภายในปีค.ศ. 2023 (พ.ศ.2566)
นอกจากนี้ยังจะเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจาก 9.6 ยูโร ให้เป็น 12 ยูโร (460 บาท) ต่อชั่วโมง ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้เริ่มใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่อายุ 16 ปี เลิกใช้พลังงานถ่านหินภายในปี 2030 ยกระดับอำนาจอธิปไตยทางยุทธศาสตร์ของยุโรป และให้การใช้กัญชาถูกกฎหมาย ส่วนการโฆษณาบริการทำแท้งต้องเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
สำหรับนางแมร์เคิลทำงาน 16 ปีมานี้ ฝ่ามรสุมทั้งภายในและนอกประเทศ ไม่ว่า วิกฤตการเงินยูโร ปัญหาผู้อพยพ เบร็กซิต ถือว่าเยอรมนีในยุคแมร์เคิลแสดงความเป็นผู้นำ นำพาสหภาพยุโรปหรืออียูผ่านมรสุมมาได้อย่างสง่างาม กระทั่งได้รับยกย่องว่าเป็นผู้นำโลกเสรีแทนสหรัฐอเมริกา ในยุคนายโดนัลด์ ทรัมป์เป็นผู้นำ
อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐ ยกย่องว่า นางแมร์เคิลผู้นำทางการเมืองโลกที่โดดเด่น บางคนชื่นชมความสุภาพอ่อนน้อม ยึดสไตล์ขับเคลื่อนทางการเมืองด้วยหลักฉันทามติ
แต่มีจำนวนหนึ่งมองว่าขาดความเป็นผู้นำที่ใจกล้า โดยเฉพาะในยามที่เผชิญกับรัสเซียที่ก้าวร้าวขึ้นและการทะยานของจีน
นางแมร์เคิลเลือกที่จะไม่ลงเลือกตั้งระดับชาติ เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2564 และเป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีคนแรกที่เลือกลงจากอำนาจด้วยตัวเอง
นักวิชาการไทยชี้ทำไมต้องรัฐบาลผสม
รองศาสตราจารย์ ดร. ณัฐนันท์ คุณมาศ ผู้อำนวยการศูนย์ยุโรปศึกษา และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในประเด็นนโยบายต่างประเทศ ให้ความเห็นก่อนการจัดตั้งรัฐบาลผสมของเยอรมนีจะเสร็จสิ้นว่า
“การจัดตั้งรัฐบาลผสมของเยอรมนีบอกอะไรที่สำคัญกับเราสักสองเรื่อง เรื่องแรก คือการเมืองเยอรมันเป็นการเมืองต้องแสวงหาฉันทามติตั้งแต่เริ่มต้น เรื่องที่สอง การรวบอำนาจบริหารไว้ที่พรรคการเมืองเดียว จะไม่มีทางเกิดขึ้นย้อนรอยประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามโลก การปกครองแบบสหพันธ์ก็มีการคานอำนาจหลายระดับเป็นรูปแบบที่ฝ่ายสัมพันธมิตรหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้วางเอาไว้ เพื่อป้องกันการกลับมาของผู้นำเยอรมนีที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ” รองศาสตราจารย์ ดร. ณัฐนันท์กล่าว
ในยุคศตวรรษก่อนหน้า มันอาจจะชัดว่าพรรคคริสเตียนเดโมแครต (CDU) ,พรรคเสรีประชาธิปไตย (FDP) ไม่ขัดขวางการเพิ่มงบประมาณทางทหาร ส่วนพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD) จะต่อต้าน พรรคกรีนยิ่งต่อต้านมาก แต่พอเข้าศตวรรษที่ 21 ปัจจุบัน มันไม่เป็นเช่นนั้น
ทั้งสี่พรรคสนับสนุนการเพิ่มงบประมาณทางการทหาร ประกอบกับการที่แมร์เคิลอยู่มา 16 ปี มันกลายเป็นบรรทัดฐาน ดังนั้นอะไรในยุคแมร์เคิลที่ว่าดี พรรคไหนจะนำรัฐบาลผสมก็ทำต่อ
ทั้ง 4 พรรคมีจุดยืนสนับสนุนสหภาพยุโรปและการบูรณาการยุโรปเหมือนกัน ทั้งนโยบายการพัฒนานวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐานในระดับสหภาพ แผนปฏิรูปสีเขียว หรือ EU Green Deal การพัฒนาเศรษฐกิจเทคโนโลยีขั้นสูงและการเพิ่มผลิตภาพอย่างยั่งยืนภายในสหภาพ แต่อาจมีรายประเด็นย่อยที่แตกต่างกัน
ถ้าสูตรผสมโดยรัฐบาลที่นำโดย SPD มีโอกาสที่จะยืดหยุ่นระเบียบการคลังกว่าและผลักดันการปฏิรูประเบียบด้านเศรษฐกิจมหภาคของยูโรโซนอย่างจำกัด ซึ่งอาจรวมถึงการเสริมสร้างนโยบายอุตสาหกรรมและระบบประกันการว่างงานในระดับสหภาพ ดังนั้นจุดยืนที่เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบเบร็กซิตหรือเยอรมนีออกจากอียู จะไม่ปรากฏไม่ว่าสูตรผสมไหน
รองศาสตราจารย์ ดร. ณัฐนันท์ กล่าวอีกว่า ในเรื่องพันธมิตรข้ามแอตแลนติกและความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา รัฐบาลสูตรผสมตัวเก็งของนายโชลซ์อาจจะท้าทายในเรื่องการสานต่อระบบการป้องปรามนิวเคลียร์ ( Nuclear-sharing) ขององค์การป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้กับสหรัฐอเมริกาหรือไม่ มากกว่า
ในกรณีนี้ (ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อย) จะส่งผลกระทบต่อระเบียบความมั่นคงยุโรปและความสัมพันธ์ข้ามแอตแลนติกอย่างมีนัยสำคัญ บทบาทของสหรัฐอเมริกาในฐานะผู้ค้ำประกันความมั่นคงและบทบาทของการป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ในยุโรปจะลดลง
ยุโรปยุคหลังแมร์เคิล
มาถึงภูมิภาคเอเชีย รัฐบาลใหม่ก็จะสืบเนื่องยุคแมร์เคิล ต่อปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงของมนุษย์ภายในจีน และการขยายอิทธิพลของจีนในโลกมากยิ่งขึ้น แต่จะยังพยายามเลี่ยงผลกระทบต่อการค้า
เยอรมนีและยุโรปอาจเข้ามามีบทบาทในการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจมากขึ้น รวมถึงอาจเข้ามาดำเนินกิจกรรมในอินโด-แปซิฟิกมากขึ้น
รัฐบาลที่นำโดย SPD มีแนวโน้มที่จะประนีประนอมและพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัสเซียมากกว่า แม้รัฐบาลทั้งสองแบบจะยังคงสนับสนุนการใช้มาตรการบังคับ (sanction) ต่อไป และอาจระงับโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 จากรัสเซียไปเยอรมนี เป็นการชั่วคราวหรือถาวร
จากรายงานวิเคราะห์ของ ซีเอ็นเอ็น สื่อสหรัฐ นางแมร์เคิลเป็นผู้นำในทางปฏิบัติและสัญลักษณ์เสถียรภาพของอียู และยังไม่ชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะมีบทบาทนำ หรือมาแทนที่ได้เหมือนนางแมร์เคิลหรือไม่ เป็นอีกความท้าทายทางนโยบายต่างประเทศที่สำคัญสำหรับรัฐบาลใหม่ของเยอรมนี
นายเปไปน์ เบอร์กเซ่น นักวิจัยจากสถาบันคลังสมอง ชัตแธมเฮ้าส์ ในกรุงลอนดอนคาดว่า นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสจะพยายามช่วงชิงตำแหน่งในเวทียุโรปของนางแมร์เคิล ส่งสัญญาณว่าอาจเกิดการเปลี่ยนสมดุลอำนาจไปสู่ฝรั่งเศสแทนเยอรมนี เนื่องจากรัฐบาลชุดใหม่ของเยอรมนีจะเป็นรัฐบาลผสม อาจจะยุ่งกับการรับมือปัญหาภายใน จึงส่งผลให้รัฐบาลจากพรรคผสมเผชิญความท้าทายที่ยากกว่าในการที่จะมีบทบาทนำในเวทีระหว่างประเทศ
ที่มา khaosod