วันนี้ (12 พฤษภาคม) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวจากกรณีที่ อย. ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว 3 รายการ คือ AstraZeneca, Sinovac และ Johnson & Johnson แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) รับรองวัคซีนไปแล้ว 6 รายการซึ่งยังไม่มีวัคซีน Sinovac นั้น ขอเรียนว่าเป็นความเข้าใจผิดว่าแต่ละประเทศจะใช้วัคซีนได้ต้องรอการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO Emergency Use Listing (EUL) ทั้งนี้ การอนุมัติโดย WHO ใช้สำหรับวัคซีนที่ร่วมในโครงการ COVAX หรือประเทศที่มีระบบการกำกับดูแลวัคซีนที่ไม่ค่อยสมบูรณ์ใช้อ้างอิง

สำหรับประเทศไทยได้รับการรับรองจาก WHO ที่สามารถพิจารณาวัคซีนได้อย่างมีคุณภาพและมีมาตรฐานอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น วัคซีน Pfizer, Moderna, AstraZeneca และ Johnson & Johnson ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปก็อนุมัติวัคซีนเหล่านี้ก่อนเข้า WHO EUL เช่นเดียวกับที่ไทยอนุมัติ AstraZeneca ไปก่อนเช่นกัน

นพ.ไพศาลกล่าวต่อไปว่า สำหรับวัคซีน Sinovac มีการใช้ใน 45 ประเทศทั่วโลก โดย อย. ใช้เกณฑ์การประเมินมาตรฐานเดียวกับของ WHO โดยการทดลองระยะ 3 ที่บราซิล สามารถป้องกันการติดเชื้อเกิน 50% ป้องกันความรุนแรงของโรค 78% และป้องกันการตายได้ 100%

เมื่อดูประเทศที่ใช้จริง พบว่าที่ประเทศชิลีใช้ป้องกันการติดเชื้อได้ 67% ป้องกันป่วย 85% ป้องกันอาการหนัก 89% และป้องกันการเสียชีวิตได้ 80%

ขณะที่การศึกษาของ นพ.ยง ภู่วรวรรณ พบว่าถ้าฉีดวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็ม ผ่านไป 1 เดือนจะมีภูมิต้านทานขึ้นสูง 99.4% สูงกว่าคนที่ได้รับเชื้อโดยธรรมชาติ

ขอบคุณที่มา THE STANDARD