“แสนชัย โจ๊กเกอร์” หรือ แสนชัย ทองไกรแสน และ “ไกโจ้ เค” ณัฐพล นาคสินธุ์ สองโปรโมเตอร์ชาวไทย ผู้ได้สิทธิ์จัดการแข่งขัน พร้อมเผยแพร่มวยไทยเต็มรูปแบบอยู่ในประเทศญี่ปุ่นมาต่อเนื่องยาวนานหลายปี เปิดใจ มวยไทยเริ่มกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง หลังวิกฤตไวรัสโควิดเริ่มคลี่คลาย

นายแสนชัย ทองไกรแสน ผู้ได้รับอนุญาตใช้สิทธิ์ สนามมวยเวทีลุมพินี อย่างเป็นทางการ เผยแพร่จัดการแข่งขันเป็นประจำในประเทศญี่ปุ่นเผย
“ตั้งแต่ช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา ผมต้องหยุดจัดการแข่งขันมานานถึงหนึ่งปีเต็มๆ เพราะญี่ปุ่นปิดประเทศ การจัดมวยต้องจัดแบบระบบปิดไม่ให้มีคนเข้าดู ซึ่งปกติตัวผมเอง จัดมวยไทยอยู่ที่ย่านชินจูกุ ในโตเกียว ปีละ 4-5 ครั้ง เป็นการเผยแพร่จัดมวยไทยล้วนๆ ตามนโยบายและแบรนด์ของเวทีลุมพินีในเมืองไทย”

“ไม่เพียงเท่านั้นผมยังจัดอันดับนักมวยญี่ปุ่นของเวทีลุมพินี สาขาญี่ปุ่น มีนักมวยและแชมเปียนในทำเนียบตั้งแต่รุ่นเล็กสุดฟลายเวต จนถึง รุ่นมิดเดิลเวต เป็นมาตรฐานต่อเนื่อง นับตั้งแต่ตัวผมอพยพมาอยู่ที่โตเกียวและมีครอบครัวนานถึง 21 ปี ผมได้รับอนุญาตจัดมวยไทยมานานหลายปี ยอมรับเลยว่า ในช่วงโควิดที่ผ่านมาได้รับผลกระทบมาก เพราะจัดมวยถ้าไม่ให้คนเข้าดูก็ไม่สนุก และค่าตัวนักมวยก็แพงจึงไม่คุ้นต้นทุน”

“แต่ตอนนี้ สถานการณ์ต่างๆเริ่มคลี่คลายมีแนวโน้มที่ดีขึ้น มีมวยบางรายการ(มวยสากล) เริ่มกลับมาจัดได้ มีการถ่ายทอดสด ระบบปิดบ้าง หรืออนุญาตจำกัดจำนวนผู้เข้าชมบ้าง เริ่มมีสปอนเซอร์กลับมาสนับสนุน หลายๆอย่างเริ่มจะดีขึ้น ตัวผมเองช่วงต้นปีหน้า (พ.ศ.2565) ก็มีแผนจะกลับมา จัดแข่งขันมวยไทยขึ้นอีกครั้ง”


“แสนชัย โจ๊กเกอร์” โปรโมเตอร์มวยชาวไทย ผู้กว้างขวางในวงการมวยญี่ปุ่น ให้ความเห็นถึง กรณีข่าวทางเมืองไทย ที่เวทีมวยลุมพินี มีนโยบายเปิดกว้าง เตรียมจัดมวย 3 ยก และมวยกรง (MMA) ขึ้นว่า

“ผมว่า เป็นวิสัยทัศน์ของท่านนายสนามมวยลุมพินีที่เปิดกว้างขึ้น แต่ตัวผมเองก็ยังยืนยัน จะคงอนุรักษ์จัดการแข่งขันมวยไทยล้วนๆที่ญี่ปุ่นอย่างนี้ต่อไป เพราะจากประสบการณ์โดยตรงส่วนตัวของผมที่ได้จัดมวยมานานถึง 17 ปี เอ็มเอ็มเอก็จะมีแฟนคลับของเขา มวยไทยเราก็จะมีแฟนประจำของเรา ถ้ามาจัดผสมในรายการเดียวกัน แฟนคนดูในญี่ปุ่นส่วนมากจะไม่นิยม”

“ในส่วนของผมก็ยังจะมีแฟนมวยที่อยากดูมวยไทยล้วนๆต่อไป ซึ่งเวลาจัดการแข่งขันมวยไทยก็จะได้รับเกียรติจาก นายสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว คนปัจจุบัน และ นายธนาธิป อุปัติศฤงค์ อดีตท่านเอกอัครราชทูต เคยให้เกียรติมาเป็นประธานและร่วมมอบรางวัลคาดเข็มขัดแชมเปียนมวยไทยลุมพินีให้กับนักมวยผู้ชนะเป็นประจำ ในฐานะที่พวกเราได้ร่วมกันเผยแพร่ศิลปะการต่อสู้มวยไทย” แสนชัย โปรโมเตอร์ชาวไทย วัย 63 ปีกล่าว


ส่วน “ไกโจ้ เค” นายณัฐพล นาคสินธุ์ ลูกชาย กิ่งทอง ลูกพระบาท อดีตโปรโมเตอร์ชื่อดังเมืองไทย ซึ่งอพยพไปอยู่ญี่ปุ่น ปัจจุบันอายุ 39 ปี ไปเปิดยิมส์สอนมวยไทย และจัดมวยไทย ที่ เวทีมวยโครักกูเอ็น ฮอลล์ ในมหานครโตเกียว ซึ่งถือเป็น “เมกกะ วงการมวยญี่ปุ่น” และถือเป็นโปรโมเตอร์ชาวไทยคนแรกที่ได้รับอนุญาตจัดการแข่งขันเป็นทางการขึ้นที่นั่น เผยถึง สถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมาว่า

“ล่าสุดผมเพิ่งจัดการแข่งขันมวยไทยที่ ย่าน ชินจูกุ ไปเมื่อ 14 พ.ย. (64) ที่ผ่านมา ยอมรับว่าถึงจะมีผลกระทบไม่น้อยช่วงโควิด แต่ก็ไม่ได้หยุดนิ่ง การจัดมวยลำบาก ยิ่งให้มีคนเข้าดูน้อย และเราต้องออกค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรองคนเข้าเวทีเองตามมาตรการเฝ้าระวังของรัฐบาล แต่นับจากเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ทางโครักกูเอ็นฮอลล์ เริ่มให้มีคนเข้าดูได้ราวๆ 40 % ซึ่งความจุของแฟนมวยได้แค่สองพันคน จึงเท่ากับให้คนเข้าดูได้ราวๆ 800 คนเท่านั้นเอง แต่ก็ถือว่า เป็นนิมิตรหมายที่ดีขึ้น”


“ไกโจ้ เค” หนุ่มไทยทายาทโปรโมเตอร์ใหญ่ “ศึกวันกิ่งทอง” ในอดีต ฟื้นความทรงจำว่า นับตั้งแต่ตนและครอบครัวอพยพมาอยู่ญี่ปุ่น เริ่มจัดมวยไทยขึ้นครั้งแรก ที่ สนามกีฬาเมืองอาคาบาเนะ ในเขตโตเกียว ยุคนั้นมีคนดูความจุสนามเพียงแค่ 350 คน มี เก้าแต้ม ลูกพระบาท เป็นคู่เอก และ รุ่งเพชร ป.รุ่งนิรันด์ เป็นคู่รอง ในปี 2017″

“ถึงวันนี้ได้รับความเชื่อถือ ได้รับอนุญาตให้เป็นโปรโมเตอร์จัดมวยที่ โครักกูเอ็นฮอลล์ ซึ่งถือเป็นเวทีมาตรฐาน เป็น”เมกกะ”วงการมวยญี่ปุ่น และถือเป็นโปรโมเตอร์ชาวไทยคนแรก ปัจจุบันผมจัดมวยปีละราวๆ 8 รายการ จัดทั้งมวยไทยอาชีพ และมวยไทยสมัครเล่น ที่ โครักกูเอ็นฮอลล์ ก็ยังมี ชินจูกุ และ อาโอโมริ ถือเป็นความภูมิใจอย่างยิ่ง”

นายณัฐพล ขยายความอีกว่า “การจัดมวยไทยสมัครเล่นนั้น เราไม่ขาดทุนเลย เพราะ นักมวยทุกคนจะต้องจ่ายเงินให้กับโปรโมเตอร์ คิดเป็นเงินไทยประมาณคนละ 1,500 บาท ช่วงก่อนโควิด เราขายบัตรผู้เข้าชมคนละประมาณ 300 บาท ส่วนใหญ่มาเชียร์ลูกหลานชก เพราะมีนักมวยตั้งแต่เด็กๆอายุ 4-5 ขวบ ไปจนถึงรุ่นเก๋าอาวุโส อายุ 62-63 ก็มี หรือนักมวยหญิงอายุ 53 ก็ชก”

“แต่เราจะใส่สนับแข้ง อุปกรณ์ป้องกันตามสไตล์มวยสมัครเล่น นักมวยชั่งเช้าเวลา 9 โมง และเริ่มชกคู่แรก 10 โมง และกติกามวยสมัครเล่นอย่างเด็กๆนั้น จะชกเพียงแค่สองยก ยกละ 1.30 นาทีเท่านั้น กรรมการผู้ห้ามก็จะเซฟตี้นักมวย แยกเร็ว ห้ามเร็ว ป้องกันอันตราย รายการหนึ่งมีมวยประมาณ 80 คู่ชกกันทั้งวัน ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก”

“ตอนนี้ มาตรการป้องกันโควิดต่างๆเริ่มคลี่คลายมีแนวโน้มดีขึ้นมาก จัดมวยในชินจูกุ ปกติทั้งตั๋วยืนและนั่งราวๆ 600 คน ก็อนุญาตให้เข้าชมได้ 460 คน ราวๆ 60-70 % นับว่าดีขึ้นมาก คิดว่าในปีหน้าอาจจะกลับคืนสู่สภาวะปกติได้ ตัวผมยังมีโปรแกรมจัดแข่งขันครั้งต่อไป วันที่ 12 ธ.ค.นี้ ที่ อาโอโมริ เป็นมวยไทยสมัครเล่น”

“ส่วนความเห็นเกี่ยวกับ เวทีมวยลุมพินี ที่เมืองไทย จะเปิดรับ เอ็มเอ็มเอ และมวยสามยก เข้ามาใหม่ ในความรู้สึกของผม ซึ่งเป็นคนคลุกคลีจัดมวยอยู่ที่ญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นเค้าชอบมวยไทยมาก เขาจะมีกลุ่มที่ชื่นชอบมวยไทยล้วนๆ กลุ่มชอบคิกบ๊อกซิ่ง ก็มี แต่ปกติในโรงยิมจะมีพวกมวยเควัน มวยเอ็มเอ็มเอ มาซ้อมปกกัน เพราะเขาต้องการได้วิชามวยไทย ผมเปิดโรงยิม “น.นากสินธุ์โตเกียว” อยู่ย่าน อาคาบาเนะ ในโตเกียว ห่างจากชินจูกู ราวๆ 12 นาทีจากสถานีรถไฟโตเกียว (ราวๆดอนเมืองไปรังสิต) จึงพอได้สัมผัสและคลุกคลีกับคนพวกนี้พอสมควร”

“ความเห็นที่ ลุมพินีไทย จะเปิดกว้าง จัดการแข่งขันหลายประเภทขึ้น ผมมีความเห็นส่วนตัวว่า เราต้องยอมรับว่า มวยไทยอยู่คู่กับการพนันมานาน เสน่ห์มันจะหายไปนะ ถ้ากลายเป็นมวยสามยก แต่หากเราจะมองถึงด้านเอ็นเตอร์เทน ดูเพื่อความบนเทิง มันก็เป็นสไตล์อีกแบบหนึ่ง แต่มันจะขาดเส่นห์ ไม่เหมือนบรรยากาศความเป็นมวยไทยเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งต่างชาติก็อาจจะชอบมากขึ้น ถ้าจะมองว่าพัฒนาในด้านสากล มุมมองต่างชาติอาจดูดีขึ้นเป็นเอ็นเตอร์เทนส่วนใหญ่ แต่ก็ถือว่า ได้อย่างเสียอย่าง ก็ลองติดตามกันไป” โปรโมเตอร์มวยไทยคนดังที่ญี่ปุ่น เจ้าของฉายา “ไกโจ้ เค” กล่าว

ขอบคุณข้อมูลจาก ข่าวสด