กรมวิทยาศาสตร์ฯ จ่อทดสอบสารสกัดกัญชาพันธุ์ไทยในสัตว์ หลังพบฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง
วันที่ 26 พ.ย.64 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยสนับสนุนการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งพืชกัญชาที่พบมีหลากหลายพันธุ์ โดยแต่ละพันธุ์มีสัดส่วนสารสำคัญแตกต่างกัน สารสำคัญในกัญชา ได้แก่ สารทีเอชซี (THC) และซีบีดี (CBD) จัดอยู่ในกลุ่มสารแคนนาบินอยด์ นอกจากนี้ ยังพบว่ากัญชามีสารออกฤทธิ์อื่นอีก เช่น กลุ่มฟลาโวนอยด์ เทอร์ปีนอยด์ อัลคาลอยด์ สเตียรอยด์ อัลเคน กรดไขมัน และน้ำตาล ซึ่งมีสัดส่วนของปริมาณสารแตกต่างกันในแต่ละพันธุ์ ทั้งนี้สารทีเอชซี และสารอนุพันธ์ของทีเอชซี มีคุณสมบัติทางยาที่หลากหลาย เช่น ฤทธิ์แก้ปวด โดยเฉพาะปวดจากโรคทางระบบประสาท กระตุ้นความอยากอาหาร และลดอาการคลื่นไส้จากการใช้เคมีบำบัด ช่วยปกป้องและกระตุ้นการสร้างเซลล์สมอง ส่วนสารซีบีดี มีฤทธิ์บรรเทาอาการลมชัก ลดอาการวิตกกังวลช่วยให้นอนหลับได้ดี
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า กรมวิทยาศาสตร์ฯ โดย สถาบันวิจัยสมุนไพร ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนากัญชามาอย่างต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม โดยขึ้นทะเบียนกัญชาพันธุ์ไทย 4 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์หางเสือสกลนครทีที 1 พันธุ์ตะนาวศรีก้านขาวดับเบิ้ลยูเอ 1 (มีปริมาณทีเอชซีสูง) พันธุ์หางกระรอกภูพานเอสที 1 (ทีเอชซี และ ซีบีดี ใกล้เคียงกัน) และพันธุ์ตะนาวศรีก้านแดงอาร์ดี 1 (มีปริมาณซีบีดีสูง) โดยได้นำสารสกัดช่อดอกกัญชาพันธุ์ไทยมาทำการทดสอบฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งเพาะเลี้ยง 7 ชนิด ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งไต มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ มะเร็งสมอง และมะเร็งตับอ่อน ด้วยวิธีของไหลวิกฤตยิ่งยวด (Supercritical Fluid Extraction) ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถสกัดสารแคนนาบินอยด์ในกัญชาได้ดี

“ผลการทดลองพบว่าสารสกัดกัญชาที่มีทีเอชซี 1 ส่วน ต่อซีบีดี 6 ส่วน มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งเต้านม (MCF-7) เซลล์มะเร็งไต (A-498) และเซลล์มะเร็งตับ (HepG2) ได้ดี สารสกัดกัญชาที่มีทีเอชซี 10 ส่วน ต่อ ซีบีดี 1 ส่วน มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งปอด (A-549) เซลล์มะเร็งลำไส้ (Caco-2) เซลล์มะเร็งสมอง (A-172) และมะเร็งตับอ่อน (PANC-1) ได้ดี เมื่อเทียบกับยาด็อกโซรูบิซิน (doxorubicin) ส่วนสารสกัดที่มีสัดส่วน ทีเอชซี 2 ส่วน ต่อ ซีบีดี 1 ส่วน มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งแบบไม่มีความจำเพาะ และพบว่าสารสกัดดังกล่าวยังมีฤทธิ์ที่ดีในการสมานรอยแผลในเซลล์ปอดเพาะเลี้ยงในหลอดทดลอง” นพ.ศุภกิจ กล่าวและว่า นอกจากนี้ ยังได้วิจัยด้านพิษวิทยาในหลอดทดลองพบว่า สารสกัดกัญชาไม่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ (Mutagenicity) ในเชื้อแบคทีเรีย แต่พบว่าสารสกัดกัญชามีความเป็นพิษต่อเซลล์ไตเพาะเลี้ยงสูงที่สุด รองลงมาเป็นเซลล์ตับเพาะเลี้ยง และเซลล์ปอดเพาะเลี้ยง ตามลำดับ

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ข้อมูลการวิจัยดังกล่าวมีการตีพิมพ์ในวารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว แสดงให้เห็นว่ากัญชาพันธุ์ไทยสามารถนำมาพัฒนาเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ แต่ต้องคำนึงถึงขนาดที่อาจก่อให้เกิดความเป็นพิษ หรือผลกระทบต่อร่างกาย ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์ฯ มีแผนที่จะดำเนินการทดสอบความปลอดภัยของสารสกัดกัญชาในสัตว์ทดลอง หรือระดับคลินิกต่อไป เพื่อสร้างความมั่นใจว่า มีประสิทธิผลและปลอดภัย เพื่อสนับสนุนการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์

ที่มา matichon