วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 เวลา 18.30 น. ที่เขตปลอดอากรและคลังสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม พร้อมด้วย นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน Mr.Rehan Saghir Executive Vice President ZP Therapeutics ภญ.สุนัยนา กิจเกษตรไพศาล ผู้จัดการทั่วไป แซดพี เทอราพิวติกส์ บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา ประเทศไทย จำกัด รับวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นาลอตที่ 2 ที่มาจากแหล่งผลิตของประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 1,382,500 โดส โดยสายการบิน China Airlines เที่ยวบิน CI 0835 เส้นทาง ไทเป-กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นาที่มาถึงประเทศไทยในวันนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 1,382,500 โดส โดยก่อนหน้านี้ได้รับไปแล้วเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จำนวน 560,200 โดส รวมวัคซีนที่นำเข้ามาแล้ว จำนวน 1,942,700 โดส เมื่อผ่านศุลกากรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้ว จะขนส่งไปยังคลังสำรองวัคซีนโควิด-19 ที่ศูนย์กระจายสินค้าของบริษัทซิลลิค ฟาร์มา จำกัด
จากนั้น เมื่อองค์การเภสัชกรรมทำการตรวจนับวัคซีนแล้ว บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด จะส่งตัวอย่างไปให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพอีกครั้ง เมื่อผ่านทุกขั้นตอน องค์การฯ จะได้ประสานกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนและหน่วยบริการต่างๆ เพื่อกระจายวัคซีนตามสัดส่วนที่ได้รับการจัดสรรไว้ก่อนหน้านี้ และในส่วนวัคซีนที่เหลือคาดว่าจะเข้ามาในเดือนธันวาคม 2564 และในไตรมาสแรกของปี 2565 (มกราคม-มีนาคม 2565)
รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวต่อไปว่า องค์การเภสัชกรรมได้รับมอบหมายในการเป็นหน่วยงานภาครัฐทำหน้าที่จัดซื้อจัดหาวัคซีนทางเลือก เพื่อให้ประชาชนได้มีวัคซีนทางเลือกเพิ่มขึ้น ในการดำเนินการดังกล่าวองค์การฯ ต้องขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สมาคมโรงพยาบาลเอกชน บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา ประเทศไทย จำกัด และภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่ช่วยสนับสนุนให้ประชาชนได้มีวัคซีนนี้เกิดขึ้น อีกทั้งต้องขอขอบคุณประชาชนคนไทยทุกคนที่ยังคงให้ความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานขององค์การเภสัชกรรมในครั้งนี้
“นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 องค์การเภสัชกรรม ได้มุ่งมั่นทุ่มเท ดำเนินการในทุกภารกิจทั้งด้านยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ในการป้องกันต่างๆ ช่วยสนับสนุนระบบสาธารณสุขไทย รวมถึงได้ร่วมกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และภาคีเครือข่ายต่างๆ ในการร่วมกันดำเนินงานด้านวัคซีนจนสำเร็จลุล่วงให้ประชาชนได้รับวัคซีนทางเลือก เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ อันจะส่งผลให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับคืนมาโดยเร็ว” รองผู้อำนวยการฯ กล่าว
ที่มา sanook