วันที่ 29 พ.ย.64 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลสำรวจล่าสุดจากสำนักวิจัยซุปเปอร์โพล ที่เปรียบเทียบอัตราการว่างงานในประเทศไทยกับอีกหลายประเทศ โดยเป็นการอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลเช่น ธนาคารโลก เว็บไซต์เทรดดิ้งอิโคโนมิคส์ และสถิติต่างๆ

พบว่า อัตราการว่างงานของประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 2.25 ต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน เช่น มาเลเซีย ร้อยละ 4.5 อินโดนีเซีย ร้อยละ 6.49 ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 6.9 ขณะที่ประเทศนอกภูมิภาค อาทิ เยอรมันนี ร้อยละ 3.4 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 4.6 และจีนร้อยละ 4.9

สะท้อนให้เห็นว่า นโยบายมาตรการ และโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมามีผลเป็นที่น่าพอใจ ณ ระดับหนึ่ง และรัฐบาลจะยังคงเดินหน้าการข้บเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านมาตรการต่างๆ การส่งเสริมการลงทุน ควบคู่ไปกับการเปิดประเทศ จะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะต่อไปแน่นอน

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ในส่วนของผลการสำรวจ ที่ระบุว่าร้อยละ 80.8 ของประชาชน ต้องการให้รัฐช่วยเหลือเยียวยา มุ่งให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยเรื่องนี้เป็นเป้าหมายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลอยู่แล้ว ดังเห็นได้จาก ล่าสุดโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs ใช้งบประมาณกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท เพื่อจ่ายเป็นเงินอุดหนุนลูกจ้างรายละสามพันบาท สามเดือน

มีสถานประกอบการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน จำนวน 2.23 แสนแห่ง หรือร้อยละ 56.71 ช่วยรักษาระดับการจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทย 3 ล้านกว่าคน หรือร้อยละ 76.08 ซึ่งรัฐบาลได้ขยายการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ไปจนถึง 20 ธันวาคมนี้ เพื่อจะได้ดูแลลูกจ้างให้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เชื่อมั่นว่าจะนำไปสู่การจ้างงานในภาคบริการและการท่องเที่ยวที่มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับประชาชนที่ต้องการสมัครงานและนายจ้างที่ต้องการประกาศรับสมัครงานสามารถใช้บริการจัดหางานออนไลน์กับกระทรวงแรงงานได้ที่เว็บไซต์ “ไทยมีงานทำ” หรือแอพพลิเคชั่น “ไทยมีงานทำ”

ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 มีผู้มาสมัครงานผ่านช่องทางดังกล่าวและได้รับบรรจุงานแล้วกว่า 3 แสนคน และยังมีตำแหน่งว่างงานรอีกประมาณ 2 แสนอัตรา ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต ก่อสร้าง และอุปกรณ์การแพทย์

“จากนี้ไป เราจะเห็นอัตราการจ้างงานที่ขยับเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในภาคบริการและภาคการผลิตโดยเฉพาะในพื้นที่ EEC อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลจะขับเคลื่อนเพียงลำพังไม่ได้ คือ การปรับวิธีคิดของแรงงาน ให้ตื่นตัวกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปรับตัวให้เข้ากับโลกเทคโนโลยีในอนาคต ในส่วนของภาครัฐ จะทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมแรงงานไทยให้มีทักษะด้านต่างๆ สอดคล้องกับความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรม” น.ส.รัชดา กล่าว

ที่มา khaosod