ขนย้ายแรดขาว – เดอะการ์เดียน รายงานการขนส่งแรดขาว 30 ตัวบินข้ามคืนจากแอฟริกาใต้ไปรวันดา เป็นภารกิจขนย้ายแรดครั้งใหญ่ที่สุดในโลก ลูกเรือต้องทำให้แรดทุกตัวอยู่ในอาการสงบ และไม่ให้สัตว์ป่าหนัก 1.5 ตันเกิดโมโหบนเครื่องบินโบอิ้ง 747

เจส กรูเนอร์ เจ้าหน้าที่องค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าแอฟริกัน พาร์กส์ กล่าวว่าแรดทุกตัวได้รับยาทำให้สงบและไม่ก้าวร้าวหรือพยายามพังกรงออกมาระหว่างการขนย้าย แต่ยาไม่ได้ทำให้สลบเพราะไม่ต้องการให้พวกมันล้มทั้งตัวเนื่องจากไม่ดีต่อกระดูกอก

แรดได้รับยาเพียงบางส่วน แรดจึงยืนและเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติโดยยังสงบและทรงตัวได้มั่นคง

ขนย้ายแรดขาว

แรด 30 ตัวเดินทางถึงบ้านใหม่ที่อุทยานแห่งชาติอาคาเกราทางตะวันออกของรวันดา ท่ามกลางความหวังว่าอาคาเกราจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และเป็นถิ่นที่อยู่ในระยะยาว

ปัจจุบัน คาดว่ามีแรดประมาณ 18,000 ตัวทั่วทวีปแอฟริกา องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) จัดให้แรดขาวอยู่ในประเภท “ใกล้ถูกคุกคาม” เพราะจำนวนลดลงอย่างมากเนื่องจากถูกล่าเอานอ

กรูเนอร์กล่าวว่าอยากให้แรดขาวกระจายอยู่ทั่วไปในทวีปแอฟริกาซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ปลอดภัยและไม่จำเป็นว่าพวกมันเคยอยู่ที่ไหน แต่ควรคำนึงว่าหากประเทศใดบังคับใช้กฎหมายค้าสัตว์ป่าไม่ได้ แรดขาวและแรดอื่นๆ อาจจะต้องสูญพันธุ์ ดังนั้น จึงต้องทำทุกวิถีทางให้แรดอยู่รอด

ขนย้ายแรดขาว

แรดขาวต่างจากแรดดำที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ส่วนแรดขาวเพิ่งมาอยู่ในรวันดาโดยเริ่มจากแรดขาว 30 ตัว แต่จะเพิ่มจำนวนขึ้นเพราะอาคาเกราจะเป็นบ้านสำหรับแรด 500-1,000 ตัวในอนาคต เหมือนกับ “ธนาคารสัตว์” ซึ่งจะรักษาสัตว์ให้อยู่รอดปลอดภัยในอนาคต เมื่อเพิ่มจำนวนประชากรแรดในอาคาเกราได้

แรดทั้งหมดแบ่งเป็นเพศเมีย 19 ตัว เพศผู้ 11 ตัว มีทั้งโตเต็มวัยและยังไม่โตเต็มวัยจากสถานที่ให้นักท่องเที่ยวขับรถตามหาสัตว์ป่าขนาดใหญ่ในแหล่งอนุรักษ์ธรรมชาติมุนยาวานาและขึ้นเครื่องบินจากเมืองเดอร์บันไปยังกรุงคากาลิของรวันดา

จากนั้น ขนส่งทางรถไปอุทยานแห่งชาติอาคาเกรา รวมระยะเวลาเดินทาง 40 ชั่วโมง ระยะทางกว่า 3,400 กิโลเมตรซึ่งเป็นการขนย้ายแรดครั้งใหญ่ที่ต้องเดินหน้าต่อไป แม้ว่าโควิดสายพันธุ์ใหม่เพิ่งจะเริ่มระบาดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

กรูเนอร์กล่าวว่าการขนย้ายครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ย้ายสัตว์จากป่าสู่ป่าซึ่งเป็นงานใหญ่มาก ต้องเช่าเหมาลำเครือ่งบินเพื่อขนย้ายสัตว์น้ำหนักกว่า 60 ตัน ต้องหากรงและอาหาร รวมทั้ง ติดต่อด้านขนส่งรวมเวลาดำเนินงานต่างๆ 6 เดือน แต่ใช้เวลาเตรียมงานอย่างน้อย 3 ปี

ก่อนออกจากแอฟริกาใต้ ต้องกักแรดไว้ 2 เดือนและเป็นการเดินทางที่นานที่สุดเท่าที่เคยมีมาและจะเป็นมาตรฐานสำหรับการอนุรักษ์แรดขาวต่อไป

กรูเนอร์กล่าวว่าสิ่งคำคัญที่สุด คือ การรักษาความปลอดภัยจึงไม่เปิดเผยว่ากักตัวแรดขาวที่ไหนในแอฟริกาใต้และต้องตัดนอเพื่อไม่ให้ล่อตาล่อใจนายพรานนักล่าและเพื่อความปลอดภัยของสัตว์ระหว่างเดินทางในแอฟริกาใต้และรวันดาซึ่งรัฐบาลส่งตำรวจมาอารักขาให้ตลอดทาง

นอกจากนี้ จะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดในอุทยานแห่งชาติ รวมทั้ง การเฝ้าระวัง ขณะที่ต้องให้ประเทศอื่นๆ และองค์กรพัฒนาเอกชนเห็นว่าทำได้อย่างไร หากทำได้ถูกต้องก็ทำให้มีความหวังต่ออนาคตของแรดขาว

โครงการนี้ได้รับความร่วมมือระหว่างแอฟริกัน พาร์คส์ คณะกรรมการพัฒนารวันดาและบริษัทซาฟารีแอนด์บียอนด์โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิโฮเวิร์ด จี บัฟเฟตต์

อาคาเกราบริหารงานโดยแอฟริกัน พาร์คส์และคณะกรรมการพัฒนารวันดาตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งได้รับเลือกเพื่ออนุรักษ์แรดขาวเพราะรัฐบาลรวันดาแสดงให้เห็นว่าอนุรักษ์และคุ้มครองสัตว์ป่าอย่างจริงจังในช่วง 15-20 ปีมานี้

ที่ผ่านมา มีการนำแรดดำมาอยู่ในอาคาเกรา 18 ตัวในปี 2560 และอีก 5 ตัวนำมาจากสวนสัตว์ในยุโรปซึ่งทุกตัวปลอดภัยดี นับตั้งแต่นั้นมา ไม่มีการล่าแรดและประชากรแรดเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นการดีสำหรับแรดขาว

ลิส นาฮิริเว ผู้จัดการอุทยานอาคาเกรากล่าวว่าผูกพันกับสถานที่แห่งนี้มาตั้งแต่ยังหนุ่ม ครอบครัวมักมาตั้งแคมป์ในป่าเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว ขณะนั้น อาคาเกราเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีสิงโตกว่า 300 ตัว แต่อาคาเกราเปลี่ยนไปเมื่อประมาณ 30 ปีก่อนเพราะผู้อพยพหนีตายจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และความเจ็บปวด

ปัจจุบัน อาคาเกรามีให้สัตว์ป่าเพิ่มจำนวนขึ้น ก่อนเกิดโควิด-19 ระบาด อุทยานมีรายได้จากการท่องเที่ยวร้อยละ 90 ส่วนแรดขาวที่เพิ่งมาถึงจะเป็นความภาคภูมิใจของเราและรวันดาที่พิทักษ์แรดขาวให้คงอยู่ต่อไปในอนาคต

กรูเนอร์กล่าวว่าจะรอสักวันหนึ่งที่เกิดลูกแรดขาวในรวันดาและเป็นแรดขาวรุ่นแรกในรวันดา แรดขาวจะเพิ่มจำนวนเป็นทวีคูณซึ่งจะเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม